คลายปม “น้ำมันกัญชา” ผิดหรือถูกอย่างไร?

Last updated: 13 พ.ค. 2562  | 

 

ยังคงเป็นกระแสที่มีการพูดถึงอย่างต่อเนื่องเกี่ยวกับการให้สิทธิปลูกกัญชา เพื่อใช้ในการแพทย์ตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ ฉบับที่ 7 พ.ศ. 2562 ซึ่งระบุให้ “กัญชา” และ “กระท่อม” สามารถนำไปใช้ประโยชน์ทางการแพทย์เพื่อรักษาโรคได้
 
ล่าสุดมีข่าวเรื่องการแจกน้ำมันสารสกัดจากกัญชาให้กับประชาชน เพื่อนำไปใช้ในการรักษาอาการเจ็บป่วย เจ้าหน้าที่จึงเข้าไปตรวจสอบข้อเท็จจริง และจับกุมผู้ต้องหา พร้อมยึดของกลางต้นกัญชา น้ำมันกัญชา อุปกรณ์ในการทำน้ำมันกัญชา
 
จึงเกิดเป็นคำถามว่า เมื่อนำกัญชาไปใช้รักษาอาการเจ็บป่วย แล้วทำไมจึงผิดกฎหมาย?
 
สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) ระบุว่า เนื่องจาก “กัญชา” เป็นยาเสพติดให้โทษ ประเภท 5 ตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522  เช่นเดียวกับพืชกระท่อม พืชฝิ่น ดังนั้น การครอบครอง ผลิต นำเข้า ส่งออก จำหน่าย หรือเสพ โดยไม่ได้รับอนุญาต จะถือเป็นความผิดตามกฎหมาย
 
ขณะที่เจตนารมณ์ของพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ ฉบับที่ 7 พ.ศ. 2562 นั้น มุ่งหมายให้ใช้กัญชาในกรณีจำเป็นเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ ทางราชการ การรักษาผู้ป่วย หรือการศึกษาวิจัยและพัฒนาเท่านั้น แต่ไม่ใช่การเปิดเสรีให้ปลูกหรือใช้กัญชาตามใจชอบ
 
นอกจากนี้ กฎหมายให้สิทธิในการผลิต นำเข้า ส่งออก จำหน่าย หรือมีกัญชาและกระท่อมไว้ในครอบครอง เฉพาะหน่วยงานของรัฐที่มีหน้าที่ศึกษาวิจัย หรือจัดการเรียนการสอนวิชาด้านการแพทย์ เกษตรศาสตร์ ผู้ประกอบวิชาชีพเครือข่ายแพทย์ ทั้งแผนปัจจุบัน แพทย์แผนไทย หมอพื้นบ้าน ผู้ประกอบอาชีพเกษตร ที่รวมตัวกันเป็นวิสาหกิจชุมชน ซึ่งจดทะเบียนตามกฎหมาย
 
ซึ่งทั้งหมดต้องขออนุญาตจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขเสียก่อน
 
ส่วนข้อกังวลว่า การจับกุมผู้ครอบครองและแจกจ่ายกัญชารายย่อยเช่นนี้ เพื่อต้องการที่จะเอื้อนายทุน เช่น บริษัทยา ให้สามารถปลูก สกัด หรือจำหน่ายกัญชานั้น ข้อมูลจาก สำนักงาน ป.ป.ส. ระบุว่า ขณะนี้มีหน่วยงานของรัฐ 2 แห่ง ที่ได้รับอนุญาตให้ผลิตกัญชาได้ คือ องค์การเภสัชกรรม และกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก
 
และในระยะ 5 ปีแรก การผลิต นำเข้า ส่งออก กัญชา ให้อนุญาตได้เฉพาะหน่วยงานรัฐ หรือโดยความร่วมมือของหน่วยงานของรัฐเท่านั้น โดยคำนึงถึงผลประโยชน์ทางการแพทย์และความปลอดภัยของประชาชนไทยเป็นที่ตั้ง จึงไม่เป็นการเอื้อประโยชน์ให้กับผู้ใด
 
ส่วนในอนาคตจะใช้กัญชาได้อย่างเสรีหรือไม่ เพียงใด ก็ขึ้นอยู่กับนโยบายและการปรับปรุงแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้องต่อไป
 
สำหรับผู้ประสงค์ขออนุญาต หรือกรณีของผู้ป่วย กฎหมายกำหนดให้แจ้งข้อมูลการครอบครองกัญชาภายใน 90 วัน นับตั้งแต่กฎหมายมีผลบังคับใช้ ซึ่งจะสิ้นสุดภายในวันที่ 19 พ.ค. 62 เพื่อให้ได้รับการยกเว้นโทษ
 
โดยไปแจ้งได้ที่ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) หรือสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศ หากต้องการสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม ติดต่อได้ที่ สายด่วน ป.ป.ส. 1386 กด 3 หรือ สายด่วน อย. 1556 กด 3

 

ที่มา : thaigov.go.th

 

 

ไม่พลาดทุกข่าวสารสำคัญ เพียงแค่กดเป็นเพื่อน LINE @CANNHEALTH