Last updated: 17 พ.ค. 2562 |
วันที่ 17 พฤษภาคม 2562 - 14:00 น.
เนื่องจากวันที่ 21 พ.ค. นี้จะเป็นวันสิ้นสุดการแจ้งการครอบครองกัญชา ตามมาตรา 22 แห่ง พ.ร.บ. ยาเสพติดให้โทษฯ โดยหลังจากนี้ผู้ที่ครอบครองกัญชาสำหรับรักษาโรคแต่ไม่จดแจ้งจะถือว่ามีความผิดตามกฎหมาย
ในช่วงเปลี่ยนผ่านนี้มีหน่วยงานหลายแห่งที่ทดลองปลูกกัญชาเพื่อผลิตเป็นสารสกัดน้ำมัน องค์การเภสัชกรรมซึ่งเป็นหนึ่งในนั้น เปิดเผยในวันที่ 16 พ.ค. 2562 ว่า ขณะนี้ต้นกัญชาเกรดทางการแพทย์ 140 ต้น ที่เริ่มปลูกเมื่อเดือน ก.พ. ภายใต้โครงการผลิตสารสกัดกัญชาต้นแบบทางการแพทย์ เริ่มออกดอกแล้ว และจะใช้เวลาอีก 8-10 สัปดาห์ จึงจะเริ่มผลิตสารสกัดน้ำมันกัญชาชนิดหยดใต้ลิ้นได้
น้ำมันกัญชาที่องค์การเภสัชกรรมจะผลิตมีทั้งหมด 3 สูตร มีสัดส่วนของสาร THC (Tetrahydrocannabinol) ซึ่งมีคุณสมบัติช่วยให้ความรู้สึกผ่อนคลายและลดอาการปวด และ CBD (Cannabidiol) ซึ่งมีฤทธิ์ลดอาการคลื่นไส้อาเจียนและการบวมอักเสบของแผลสารที่เป็นตัวยาในการรักษาโรคแตกต่างกัน
อีกทั้งจะมีการนำน้ำมันกัญชาที่ผลิตได้ไปใช้ในการวิจัยทดสอบทางคลินิกกับผู้ป่วยชุดแรก 2,500 ขวด ในช่วงปลายเดือน ก.ค. นี้ โดยกรมการแพทย์และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จะพิจารณาวิธีการให้ผู้ป่วยสมัครเข้าร่วมในสัปดาห์หน้า
นอกจากองค์การเภสัชกรรมแล้ว ยังมีหน่วยงานอื่นอย่างกรมแพทย์แผนไทยและแพทย์ทางเลือก คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยหลายแห่ง ร่วมมือผลิตกับกลุ่มผลิตกัญชาเช่นกัน
สำหรับผู้ป่วยที่เคยใช้และจำเป็นต้องใช้กัญชาในทางการแพทย์ก่อนที่ทางการจะกำหนดให้แจ้งการครอบครองกัญชา จะต้องทำอย่างไรเพื่อไม่ให้ผิดกฎหมายซึ่งกำหนดบทลงโทษสำหรับการครอบครองยาเสพติดให้โทษประเภท 5 กระท่อม กัญชาไว้ คือจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
จะทำอย่างไรหากต้องใช้น้ำมันกัญชาหลัง 21 พ.ค.
นพ.สุรโชค ต่างวิวัฒน์ รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) อธิบายว่า ในการยื่นจดแจ้งภายในวันที่ 21 พ.ค. นี้ ผู้ป่วยหรือผู้ครอบครองกัญชาสามารถยื่นจดแจ้งการครอบครองในปริมาณที่จำเป็นต้องใช้ล่วงหน้าในระหว่างที่องค์การเภสัชกรรม กำลังผลิตออกมาเพื่อใช้จ่ายยาให้กับผู้ป่วย
“การถือครองกัญชาเพื่อใช้ กว่าจะมีกัญชาอีก 3 เดือน สมมติใช้เดือนละ 2 ขวด วันนี้มาแจ้ง สามารถแจ้ง 6 เดือน ก็รับได้ นั่นคือปริมาณที่แจ้งวันนี้เผื่อไปได้ถึง 90 วัน” นพ.สุรโชค กล่าว
ขณะนี้ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย และ อย. ได้เปิดเว็บไซต์ลงทะเบียนการครอบครองกัญชาขึ้นมาอีกช่องทางหนึ่ง ตั้งแต่วันที่ 13- 21 พ.ค. ซึ่งในระบบออนไลน์นี้เปิดโอกาสให้ผู้ลงทะเบียนกรอกข้อมูลการมีกัญชา ในครอบครอง ทั้งปริมาณที่จำเป็นต้องใช้ภายใน 90 วัน ปริมาณที่ต้องใช้หลัง 90 วันตามกฎหมาย และได้นำกัญชาส่วนเกินมาส่งมอบ และอื่น ๆ
ในระบบของเว็บไซต์นี้ ยังเป็นช่องทางสำหรับผู้ป่วยที่ต้องการใช้กัญชาในการรักษาโรค แต่ไม่มีใบรับรองแพทย์มายืนยัน เนื่องจากมีข้อจำกัดทางการรักษาของแพทย์แผนปัจจุบันด้วย
FACEBOOK/สำนักงาน ป.ป.ส.
ส่วนราคาของน้ำมันสกัดกัญชาที่ผลิตโดยองค์การเภสัชกรรม นพ. วิฑูรย์ ด่านวิบูลย์ ผอ. องค์การเภสัชกรรม ระบุว่า อยู่ระหว่างการคำนวณ แต่จะอยู่ที่ระหว่าง 100-200 บาท ต่อ 1 ซีซี ซึ่งเป็นราคาใกล้เคียงกับต่างประเทศ และในตลาดใต้ดิน
ข้อมูลที่รัฐรวบรวมไว้จะนำไปใช้ทำอะไร
ข้อมูลที่ทางการรวบรวมได้จากการรับจดแจ้งการมีกัญชาไว้ในครอบครอง จะเป็นฐานข้อมูลเกี่ยวกับจำนวนผู้ป่วยที่ต้องใช้กัญชา ปริมาณที่ต้องใช้ รวมทั้งชนิดของโรคว่าผู้ป่วยใช้กัญชาเพื่อรักษาอาการใด
“อย. ต้องมีการรายงานว่า เมื่อใช้แล้วมีประสิทธิภาพ ได้ผลกับโรคต่าง ๆ จริงหรือเปล่า โรคนี้ใช้ได้จริงไหม มีการรายงานจากแพทย์เข้ามาว่ารักษาคนไข้แล้วได้ผลอย่างไร” รองเลขาธิการ อย. กล่าว
ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา หัวหน้าศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ รพ.จุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย เปิดเผยว่าข้อมูลการลงทะเบียนผ่านเว็บไซต์จะถูกส่งต่อไปยัง อย. โดยการขึ้นทะเบียนนี้เพิ่มช่องทางในการรักษาให้กับผู้ป่วย ทั้งที่ใช้กัญชาอยู่แล้ว และยังไม่ได้ใช้ แต่มีความจำเป็นต้องใช้ในอนาคต แม้จะยังไม่มีใบรับรองแพทย์ก็สามารถลงทะเบียนได้
ข้อควรคำนึงถึงเมื่อใช้น้ำมันสกัดกัญชาช่วงก่อนมีการจ่ายจากรัฐ
อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมา มีกลุ่มผู้สกัดน้ำมันกัญชาเกิดขึ้นมากมาย หรือที่เรียกกันทั่วไปว่า “กลุ่มใต้ดิน” ออกจำหน่ายแบบไม่เปิดเผย ทั้งผู้ป่วย กลุ่มแพทย์และเจ้าหน้าที่ทางการต่างเป็นห่วงเรื่องมาตรฐานความปลอดภัย
ศ.นพ.ธีระวัฒน์ ชี้ให้เห็นข้อควรระวังในการใช้กัญชาในการรักษาโรคว่า จำเป็นที่จะต้องควบคู่ไปกับการรักษาด้วยการแพทย์ แผนปัจจุบัน เนื่องจากกัญชาอาจมีปฏิกิริยาเข้าไป “สู้รบ” หรือเพิ่มฤทธิ์กับยาที่ผู้ป่วยใช้อยู่แล้วเดิม เช่น เพิ่มการออกฤทธิ์ของยาละลายลิ่มเลือด เป็นต้น
“ใช้ยาต้องรู้ตัวโรค สาเหตุของโรค และต้องรู้ว่าสามารถควบรวมกับยาแผนปัจจุบันอย่างไร” ศ.นพ.ธีระวัฒน์ กล่าวในการบรรยายการใช้กัญชาทางการแพทย์เมื่อวันที่ 13 พ.ค. ที่ รพ. จุฬาลงกรณ์ และยืนยันว่า เมื่อตัดสินใจใช้การรักษาจากกัญชา ต้องแจ้งให้แพทย์แผนปัจจุบันทราบด้วย
นอกจากนี้ ต้องให้แน่ใจว่าผลิตภัณฑ์น้ำมันกัญชาต้องผลิตจากกัญชาที่สะอาด นั่นคือ ไม่มีสารพิษ ยาฆ่าหญ้า ไม่มีปรอท และโลหะหนัก สอดคล้องกับคำอธิบายจาก นพ. สุรโชค รองเลขาธิการ อย. ที่บอกว่า ในการใช้ยากัญชา กลุ่มคนไข้ที่มีโรคไม่เหมาะสมกับตัวยา ประโยชน์จากโรคยังไม่ชัดเจน มีน้อย หรือไม่มีผลเลย ตามหลักจริง ๆ ก็ไม่ควรใช้ อีกทั้งยังอาจเกิดโรคแทรกซ้อนอันเกิดจากการการใช้ยา จึงจำเป็นต้องสั่งจ่ายยาโดยแพทย์ที่ได้รับใบอนุญาต
“กัญชาออกฤทธิ์สู่ระบบทางร่างกายหลายระบบ บางทีออกฤทธิ์รักษาได้โรคหนึ่ง อาจไปมีผลต่อการเกิดอีกโรคหนึ่งก็ได้” รองเลขา อย. กล่าว “เช่น ยาโรคลมชัก เมื่อใช้กับกัญชาจะทำให้ระดับของยาลมชักสูงขึ้น พูดภาษาชาวบ้านคือ ฤทธิ์ของยาเพิ่มขึ้น ซึ่งผู้ป่วยจะเป็นอันตรายได้”
นพ.สุรโชค ยอมรับว่า ก็มีกลุ่มที่ชวนเชื่อสร้างความเข้าใจไปในทางที่ผิดในสรรพคุณของยากัญชา ซึ่งคนไข้กลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่ทาง อย. เป็นห่วง
“เราไม่อยากให้เกิดการหลอกผู้ป่วย ก็มีเยอะสำหรับผู้ผลิตที่ไม่มีคุณภาพ หรือหลอกขายในราคาที่สูงกว่า”
การจ่ายยาจากกัญชาในอนาคต
ก่อนหน้านี้ องค์การเภสัชกรรม เปิดเผยว่าในเดือน ก.ค. นี้จะสามารถผลิตยาจากกัญชาชนิดน้ำมัน หยดใต้ลิ้น (Sublingual Drop) ได้ประมาณ 2,500 ขวด ขวดละ 5 มิลลิลิตร และจะเปิดให้ผู้ป่วยสมัครเข้าร่วมโครงการวิจัยทางคลินิก หรือผู้ที่เข้าร่วมโครงการ เพื่อรับสารสกัดกัญชาจากองค์การเภสัชกรรม
อย่างไรก็ดี มีคำถามว่า ในปริมาณเท่านี้จะเพียงพอกับผู้ที่ต้องการใช้กัญชาในการนำมารักษาโรคหรือไม่ เพราะจนถึงขณะนี้ ก็มีผู้ยื่นจดแจ้งครอบครองกัญชาทางการแพทย์กับ อย. และสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) แล้ว เกือบ 10,000 ราย (ข้อมูลจาก อย. วันที่ 13 พ.ค. 2562)
รองเลขาธิการ อย. กล่าวว่า จากการตรวจสอบเบื้องต้นจากผู้ที่จดแจ้งพบว่า มีโรคที่ไม่ได้เหมาะสมกับการใช้กัญชาเป็นจำนวนมาก ทำให้ข้อมูลการใช้สูงเกินจริง
“ตอนนี้ที่แจ้งอยู่ประมาณ 10,000 คน มีคนไข้ประมาณ 50 เปอร์เซ็นต์ ไม่มีข้อบ่งชี้ว่าต้องใช้ แต่เรารับแจ้งหมด เพียงแต่ต่อไป คนที่ลงทะเบียนไว้ อยู่ในพื้นที่ไหน จะให้หมอช่วยดูแลผู้ป่วยต่อ ไปคุยกับผู้ป่วย เพราะอยู่ดี ๆ เคยใช้อยู่แล้วหยุดเลยอาจจะมีปัญหา”
แพทย์ที่ไหนจะจ่ายกัญชาได้บ้าง
รองเลขาธิการ กย. คาดว่าภายในเดือน ก.ค.นี้ องค์การเภสัชกรรม จะสกัดน้ำมันกัญชาจากต้นกัญชาที่ปลูกไว้ได้สำเร็จ ขณะเดียวกันคณะกรรมการขับเคลื่อนการใช้ประโยชน์จากกัญชาเพื่อการศึกษาวิจัยและประโยชน์ทางการแพทย์ ก็เปิดทางให้นำเข้ากัญชาเพื่อใช้ในการผลิตได้ชั่วคราว
นอกจากนี้ยังมีกัญชาที่เป็นของกลางจากคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) อีกจำนวนหนึ่ง ขณะนี้อยู่ระหว่างการตรวจสอบหาปริมาณสารปนเปื้อน หากไม่อยู่ในระดับที่เป็นอันตราย ก็จะนำมาผลิตได้ก่อนเดือน มิ.ย.
ในระหว่างนี้ กรมการแพทย์ได้อบรมบุคลากรทางการแพทย์ ทั้งแพทย์แผนปัจจุบัน และแผนไทย เพื่อให้มีความรู้ความเข้าใจในการนำสารสกัดจากกัญชามาใช้รักษาโรคด้วย
เมื่อถามว่าผู้ป่วยจะสามารถไปพบแพทย์ที่จ่ายยาจากกัญชาได้ที่ใดบ้าง รองเลขาธิการ อย. กล่าวว่า ภายในสิ้นเดือน พ.ค. คาดว่าจะมีแพทย์ที่ผ่านการอบรมและมีใบอนุญาตสั่งใช้และจ่ายสารสกัดจากกัญชาในทางการแพทย์ จำนวนราว 1,000 คน ครอบคลุมโรงพยาบาลรัฐ-เอกชน ในทุกจังหวัดและอำเภอทั่วประเทศ
รองเลขาธิการ อย. ระบุอีกว่า คณะกรรมการควบคุมยาเสพติดให้โทษกำลังพิจารณาว่าอนุญาตให้สั่งจ่ายได้ในระดับคลินิก ขณะนี้กำลังวางระบบการติดตามผลการรักษา เนื่องจากมีบางอาการของโรคอย่างลมชักบางประเภทหรือการปวดตามเส้นประสาท ที่รักษาที่คลินิกได้
ส่วนตำรับยาแผนไทยจากตำราการแพทย์แผนไทย มีประกาศรับรองแล้ว 16 ตำรับ ทว่าผู้ที่จ่ายยาได้ต้องเป็นผู้ประกอบวิชาชีพการแพทย์แผนไทยและหมอพื้นบ้าน ที่ผ่านการอบรมหลักสูตรการใช้ตำรับยาที่มีกัญชาปรุงผสม
เกี่ยวกับการเข้าถึงยาของผู้ป่วยนี้ มูลนิธีชีววิถี ได้เรียกร้องให้กรมการแพทย์แผนไทย ประกาศรับรองตำรับยาน้ำมันกัญชาของหมอพื้นบ้านโดยเร็ว เพราะว่าจะส่งผลกระทบต่อผู้ป่วยที่มีความจำเป็นต้องใช้ยาและไม่สามารถเข้าถึงยาได้ และควรประกาศประกาศรับรองให้แล้วเสร็จภายใน 21 พ.ค. ซึ่งเป็นวันสุดท้ายของการนิรโทษกรรม
ก่อนสิ้นสุดวันที่ 21 พ.ค. นี้ ผู้ที่ถือครองกัญชาสำหรับการรักษาโรค สามารถลงทะเบียนได้ทางเว็บไซต์ www.cbd-oss.org /WWW.CBD-OSS.ORG
ใครจะได้ใช้ น้ำมันกัญชา 2,500 ขวดแรกขององค์การเภสัชกรรม
นพ.โสภณ เมฆธน ประธานองค์การเภสัชกรรม กล่าวว่า น้ำมันกัญชาส่วนนี้จะใช้กับผู้ป่วยที่เข้าร่วมการทดลองวิจัยและกับกลุ่ม ผู้ป่วยที่มีความจำเป็นเฉพาะรายที่มีข้อบ่งใช้กลุ่มโรคชัดเจน เป็นกลุ่มแรก โดยต้องผ่านการสั่งจ่ายและดูแลโดยแพทย์ที่ผ่านการอบรมการจ่ายยากัญชา ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขเร่งให้แพทย์ตามโรงพยาบาลศูนย์ และโรงพยาบาลทั่วไป เข้ารับการอบรม
ดร.ภญ.นันทกาญจน์ สุวรรณปิฎกกุล ผอ. สถาบันวิจัยและพัฒนา องค์การเภสัชกรรม อธิบายเพิ่มเติมว่า น้ำมันกัญชาที่ผลิตได้เบื้องต้นนี้ จะกระจายให้ผู้ป่วยได้ใช้ โดยกลุ่มแรกที่ใช้ได้เลยโดยไม่ต้องผ่านการทดลองทางคลินิก คือผู้ป่วยกลุ่มโรคลมชัก ซึ่งจะดำเนินการผ่านเครือข่ายแพทย์กลุ่มโรงพยาบาลระบบประสาท นอกจากนี้ยังอยู่ระหว่างการทำข้อตกลงกับสถาบันมะเร็งแห่งชาติ ในการคัดเลือกผู้ป่วย
ส่วนราคาของน้ำมันสกัดกัญชาที่ผลิตโดยองค์การเภสัชกรรม นพ.วิฑูรย์ ด่านวิบูลย์ ผอ. องค์การเภสัชกรรม ระบุว่า อยู่ระหว่างการคำนวณ แต่จะอยู่ที่ระหว่าง 100-200 บาท ต่อ 1 ซีซี ซึ่งเป็นราคาใกล้เคียงกับต่างประเทศ และในตลาดใต้ดิน
กลุ่มกัญชาใต้ดิน จะเป็นอย่างไร ?
รองเลขาธิการ อย. ระบุว่าเมื่อพ้นกำหนดการจดแจ้งครอบครองกัญชาแล้ว กลุ่มกัญชาใต้ดิน ที่ไม่ได้เข้าร่วมกับหน่วยงานของรัฐเพื่อขออนุญาตปลูกกัญชา ก็ถือว่ามีความผิดตามกฎหมาย
เกษตรกรรายย่อยไม่สามารถปลูกกัญชาเองได้ แต่ต้องเป็นเกษตรกรที่รวมตัวเป็นวิสาหกิจชุมชน หรือวิสาหกิจเพื่อสังคม หรือสหกรณ์การเกษตร ซึ่งจดทะเบียนตามกฎหมายและร่วมดำเนินการกับหน่วยงานของรัฐ
ที่มา www.bbc.com/thai/thailand-48268060
ไม่พลาดทุกข่าวสารสำคัญ เพียงแค่กดเป็นเพื่อน LINE @CANNHEALTH