Last updated: 7 ส.ค. 2562 |
วันที่ 25 มิถุนายน 2562 - 10:30 น.
"Exclusive"
หมายเหตุ : เผยแพร่ครั้งแรกเป็นภาษาไทยเมื่อวันที่ 25 มิถุนายน 2562 โดย Cannhealth
ที่มา: Medical News Today: Aug.7, 2018
https://www.medicalnewstoday.com/articles/320086.php
Author: Lana Burgess
เขียน/แปล: วันดี กุศลธรรมรัตน์/ Wandee K.
เรียบเรียง : อภินันท์ อุ่นทินกร: /Apinan Untinkorn
โรคสะเก็ดเงิน (Psoriasis) คือโรคผิวหนังเรื้อรัง เป็นสภาพผิวที่นำไปสู่การสะสมของเซลล์บนพื้นผิวหนังทำให้เกิดการอักเสบเป็นผื่นหนาหยาบขนาดใหญ่สีแดงและมีสะเก็ดสีเงินปกคลุมที่ผิวหนัง ซึ่งเกิดที่ตำแหน่งใดของร่างกายก็ได้ นักวิจัยบางคนเชื่อว่ากัญชาอาจเป็นการรักษาที่มีประสิทธิภาพสำหรับอาการคันและอาการปวดแสบปวดร้อน ปวดข้อ อันเป็นอาการหลักของโรคสะเก็ดเงิน
ผู้คนจำนวนมากคิดว่ากัญชาเป็นยาเพื่อสันทนาการให้ความรู้สึกผ่อนคลาย แต่ทว่าในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมานักวิทยาศาสตร์ได้พยายามหาข้อมูล ตรวจสอบอย่างต่อเนื่องว่ากัญชาจะเป็นประโยชน์ต่อสุขภาพของผู้คนได้อย่างไร
ในกัญชามีองค์ประกอบสำคัญที่ออกฤทธิ์และทรงพลังที่รู้จักกันในชื่อ สารแคนนาบินอยด์ (cannabinoids) ซึ่งเชื่อถือได้ในเรื่องของคุณประโยชน์ที่เป็นไปได้ต่อสุขภาพ กัญชามีส่วนประกอบมากกว่า 120 ชนิดที่เป็นสารออกฤทธิ์ โดยแต่ละชนิดมีคุณสมบัติที่แตกต่างกัน ถือว่าเป็นความท้าทายสำหรับกลุ่มนักวิจัยที่ให้ความสนใจในประโยชน์ด้านสุขภาพของกัญชา เนื่องจากพวกเขาจำเป็นต้องเข้าใจว่าสารแต่ละชนิดจะมีผลต่อร่างกายอย่างไร
สารแคนนาบินอยด์ (cannabinoid) ที่นักวิทยาศาสตร์รู้จักมากที่สุดคือเตตราไฮโดรแคนนาบินอล delta-9-tetrahydrocannabinol (THC) ซึ่งสาร THC นี้เป็นสารที่ออกฤทธิ์ต่อจิตประสาท และมีผลต่อความคิดของคน ซึ่งการวิจัยชี้ให้เห็นว่าการควบคุมคุณสมบัติของสาร THC อาจนำไปสู่การรักษาภาวะทางสุขภาพของโรคที่หลากหลายได้
มียา 3 ชนิดที่มีสาร THC สังเคราะห์ซึ่งมีโครงสร้างคล้ายกับส่วนผสมจากธรรมชาติในกัญชา ได้รับการอนุมัติจากองค์การอาหารและยา (FDA) แห่งสหรัฐฯ ได้แก่ ยามารินอล (Marinol) และซินโดรส (Syndros) สามารถช่วยคนที่มีอาการ เบื่ออาหารที่เกิดจากสาเหตุบางอย่าง และยาซีซาเมต (Cesamet) สามารถช่วยบรรเทาอาการอาเจียนและคลื่นไส้ที่อาจเกิดขึ้นจากเคมีบำบัดรักษาโรคมะเร็ง
ในเดือนมิถุนายน 2018 องค์การอาหารและยา (FDA) ได้อนุมัติให้สาร cannabidiol หรือ CBD ซึ่งเป็นสารประกอบชนิดหนึ่งในกัญชาสามารถใช้ในการบำบัดรักษาอาการชักที่เกิดจากโรคลมชักสองประเภทได้ โดยสาร CBD แสดงให้เห็นถึงแนวโน้มที่จะประสบผลสำเร็จในการบำบัดรักษาภาวะของโรคได้หลากหลาย
บทความนี้ได้กล่าวถึงหลักฐานทางวิทยาศาสตร์เกี่ยวกับประโยชน์ของกัญชาที่มีต่อสุขภาพสำหรับโรคสะเก็ดเงิน นอกจากนี้ยังพิจารณาถึงความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นกับสภาพร่างกายจากการใช้กัญชารักษา
โรคสะเก็ดเงิน (Psoriasis) คืออะไร?
โรคสะเก็ดเงินเป็นโรคผิวหนังที่มีอาการคันและปวดแสบปวดร้อนบริเวณผื่นที่เป็น ปวดข้อ เกิดจากปัญหาเกี่ยวกับระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายมีความผิดปกติ ทำให้เซลล์ผิวหนังเกิดการแบ่งตัวผิดปกติมีจำนวนมากเกินไป เกิดการอักเสบจนเกิดรูปทรงเป็นผื่นหนาหยาบขนาดใหญ่สีแดงและมีสะเก็ดสีเงินปกคลุมที่ผิวหนัง บางครั้งผิวหนังแห้งเป็นรอยแตกและมีเลือดออก ผู้ที่เป็นโรคสะเก็ดเงินอาจประสบกับอาการอักเสบและบวมในผิวหนังส่วนอื่นๆ ของร่างกาย
จากข้อมูลของมูลนิธิโรคสะเก็ดเงินแห่งชาติ (National Psoriasis Foundation) พบว่า 30% ของผู้ที่เป็นโรคสะเก็ดเงินจะพัฒนาไปเป็นโรคข้ออักเสบสะเก็ดเงิน (Psoriatic arthritis) ซึ่งนำไปสู่ข้อต่อที่แข็งและอักเสบ ปัจจุบันยังไม่มีวิธีรักษาโรคสะเก็ดเงินให้หายขาดได้ แต่การรักษาที่ถูกต้องสามารถช่วยให้ผู้ป่วยจัดการกับอาการของโรคเพื่อให้บรรเทาได้
การรักษาบางอย่างในคนที่เป็นโรคสะเก็ดเงินอาจมีอาการข้างเคียง ขณะที่การรักษาบางอย่างมีประสิทธิภาพน้อยลงเมื่อเวลาผ่านไป ด้วยเหตุดังกล่าวเป็นผลให้กลุ่มนักวิทยาศาสตร์มักมองหาวิธีการใหม่ๆ ในการจัดการกับภาวะของโรคนี้
ประโยชน์ที่เป็นไปได้ของกัญชาสำหรับโรคสะเก็ดเงิน
กัญชามีสารเคมีที่เรียกว่าแคนนาบินอยด์ (Cannabinoids) และร่างกายมนุษย์ยังผลิต Cannabinoids บางชนิดตามธรรมชาติ ที่เรียกว่าเอ็นโดแคนนาบินอยด์ (Endocannabinoids) ที่มีบทบาทในการทำงานหลายอย่างรวมไปถึงระบบภูมิคุ้มกัน, แผลอักเสบ, ความอยากอาหาร, อารมณ์, ภาวะเจริญพันธุ์, ความดันลูกตา
เมื่อมีคนใช้กัญชา สารแคนนาบินอยด์ (cannabinoids)ในกัญชาอาจมีผลต่อการทำงานของร่างกายบางอย่าง กลุ่มนักวิจัยเชื่อว่ากัญชามีประโยชน์ต่อสุขภาพหลายประการ ซึ่งรวมไปถึงการบรรเทาอาการต่างๆ ได้ดังนี้
ลดการอักเสบ
การอักเสบ (inflammation) เป็นอาการของโรคสะเก็ดเงินและโรคข้ออักเสบสะเก็ดเงิน จากการศึกษาวิจัยในปี 2009 พบว่าสารแคนนาบินอยด์ (cannabinoids) บางชนิดในกัญชารวมไปถึงสาร THC สามารถช่วยควบคุมระบบภูมิคุ้มกันและลดการอักเสบของโรคได้
งานวิจัยในปี 2016 ชี้ให้เห็นว่าสารแคนนาบินอยด์ (cannabinoids) บางชนิดอาจมีประโยชน์ต่อคนที่ป่วยเป็นโรคสะเก็ดเงินโดยส่งผลต่อการทำงานร่วมกันระหว่างระบบภูมิคุ้มกันและระบบประสาทของร่างกาย
ชะลอการเติบโตของเซลล์
ในคนที่เป็นโรคสะเก็ดเงิน มีการผลิตเซลล์ผิวหนังเร็วเกินไปจะแบ่งตัวเร็ว สารแคนนาบินอยด์ (cannabinoids) จะช่วยชะลอการเจริญเติบโตของเซลล์ผิวและลดการสะสมบนพื้นผิวของผิวหนัง
การศึกษาวิจัยในปี 2007 พบว่าสารที่มีอยู่ในกัญชาได้แก่ cannabinoids delta-9-tetrahydrocannabinol, cannabidiol, cannabinol และ cannabigerol ดูเหมือนจะชะลอการเจริญเติบโตของเซลล์ที่เรียกว่า keratinocytes ในชั้นนอกของผิวหนัง กลุ่มนักวิจัยได้เสนอเพื่อพิจารณาว่าสารเหล่านี้มีบทบาทในการรักษาโรคสะเก็ดเงินได้
'การพิจารณาทบทวนในปี 2016 สนับสนุนแนวคิดที่ว่า กัญชาสามารถใช้รักษาโรคสะเก็ดเงินได้'
การควบคุมความเจ็บปวด
กัญชาอาจช่วยลดอาการปวดได้ จากบทความปี 2015 ใน JAMA ระบุว่ามีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ที่สำคัญได้บ่งชี้ว่ากัญชาสามารถบรรเทาอาการปวดเรื้อรังจากโรคได้ ความสามารถนี้อาจหมายถึงว่ากัญชาสามารถช่วยคนที่เป็นโรคสะเก็ดเงินและโรคข้ออักเสบสะเก็ดเงินในการจัดการความเจ็บปวดและความรู้สึกไม่สบายที่เกี่ยวข้องกับภาวะของโรคดังกล่าวนี้
ในทางกลับกันในปี 2018 นักวิจัยในออสเตรเลียไม่พบความเชื่อมโยงระหว่างการใช้กัญชากับการลดความเจ็บปวดหรือลดการใช้ยาแก้ปวดกลุ่มโอปิออยด์ (opioids) เพื่อควบคุมความเจ็บปวด อย่างไรก็ตามผู้เข้าร่วมโปรแกรมไม่ได้รับกัญชาเฉพาะเพื่อวัตถุประสงค์ทางการแพทย์ พวกเขาทุกคนมีใบสั่งยาจากแพทย์สำหรับยาแก้ปวดกลุ่มโอปิออยด์ (opioids) และเลือกที่จะใช้กัญชาร่วมด้วยเพื่อบรรเทาอาการปวด ทำให้การนอนหลับดีขึ้น หรือผ่อนคลาย
ลดอาการคัน (จากผิวหนังระคายเคือง)
สารแคนนาบินอยด์ (cannabinoids) ในกัญชาอาจบรรเทาอาการคันที่เกิดขึ้นกับสภาพผิวบางอย่างรวมไปถึงโรคสะเก็ดเงิน ผลการสำรวจความคิดเห็นเกี่ยวกับความเกี่ยวข้องของกัญชาในปี 2017 พบว่าครีมที่มีสารต้านการอักเสบของร่างกายอย่าง palmitoylethanolamide (PEA) ซึ่งมีผลต่อตัวรับชนิดที่ 1 ของสารแคนนาบินอยด์ (cannabinoids) ดูเหมือนจะลดอาการคันในผู้ที่มีอาการของโรคตุ่มแข็งคันเรื้อรัง (prurigo), โรคผิวหนังอักเสบ (lichen simplex) และอาการคันที่เกิดจากผิวหนังระคายเคือง (pruritus) กัญชาจึงถือได้ว่ามีส่วนช่วยในการลดอาการคันของโรคสะเก็ดเงิน
ช่วยสมานแผล
หนึ่งในอาการที่เจ็บปวดที่สุดของโรคสะเก็ดเงิน คือผิวแห้งจนมีรอยแตกและเลือดออกตามมาที่ผื่นหนาของผิวหนังที่ได้รับผลกระทบ
การศึกษาในหนูทดลองเมื่อปี 2016 พบว่าตัวรับ cannabinoid มีบทบาทในการฟื้นฟูสมานแผล นักวิทยาศาสตร์ได้ระบุถึงการกระทำบางอย่างของสารแคนนาบินอยด์ (cannabinoids) ที่ต้านการอักเสบ
เชื่อได้ว่าในอนาคตการรักษาที่เกี่ยวข้องกับสารแคนนาบินอยด์ (cannabinoids) สามารถช่วยรักษาแผลเปิด (open sores) ที่ทำให้เกิดโรคสะเก็ดเงินได้
โรคสะเก็ดเงินกับสุขภาพทางจิต
โรคสะเก็ดเงิน เป็นโรคผิวหนังอักเสบเรื้อรังที่ปัจจุบันยังไม่มีวิธีรักษาให้หายขาดได้ เมื่อเวลาผ่านไปจึงอาจมีผลกระทบ เชิงลบต่อคุณภาพชีวิตของคนไข้โดยเฉพาะในด้านจิตใจ ความเครียดอาจเป็นตัวกระตุ้นให้เกิดโรคสะเก็ดเงิน นอกจากนี้ยังมีการเชื่อมโยงระหว่างโรคสะเก็ดเงินและภาวะซึมเศร้าและระหว่างภาวะซึมเศร้าและการอักเสบโดยทั่วไป ในปี 2017 นักวิจัยรายงานว่าการให้สาร THC ในปริมาณที่น้อยช่วยลดความเครียดในผู้ที่ทำงานพูดในที่สาธารณะ อย่างไรก็ตามการใช้สาร THC ในปริมาณที่สูงขึ้น มีแนวโน้มที่จะเพิ่มความวิตกกังวลได้
ความเสี่ยงและข้อควรพิจารณา
บุคคลที่ต้องการใช้กัญชาเพื่อการบำบัดรักษาโรคสะเก็ดเงิน ต้องปรึกษาแพทย์ก่อน
ถือว่าเป็นสิ่งสำคัญที่ต้องจำไว้ว่ากัญชาเป็นสิ่งที่ถูกกฎหมายในบางรัฐ บางสถานที่เท่านั้นสำหรับวัตถุประสงค์ทางด้านการแพทย์และทางด้านสันทนาการ ยาที่ได้รับการอนุมัติว่ามีสารแคนนาบินอยด์ (cannabinoids) จากกัญชาอาจจำเป็นต้องมีใบสั่งยาจากแพทย์ วิธีที่ดีที่สุดในการใช้กัญชาเพื่อรักษาโรคสะเก็ดเงินคือการใช้ในรูปแบบของสารสกัดที่เป็นของเหลว หรือน้ำมันเพื่อมาทากับผิวหนังที่ได้รับผลกระทบ
ในควันกัญชาจะปล่อยสารเคมีที่สร้างความเสียหายให้กับผิวสู่อากาศซึ่งสามารถทำให้สภาพผิวแย่ลง นอกจากนี้ยังทำให้ปอดมีปัญหาและอาจชะลอการรักษาได้ ดังนั้นผู้ที่เป็นโรคสะเก็ดเงินควรหลีกเลี่ยงบริโภคยากัญชาในรูปแบบนี้
กัญชายังมีให้บริโภคในรูปแบบของผลิตภัณฑ์ยาสูดพ่น (inhaler) หรือบ้องไฟฟ้า (vaporizer) มีงานวิจัยน้อยมากเกี่ยวกับความปลอดภัยของการใช้ในรูปแบบเหล่านี้ ดังนั้นจึงควรใช้ด้วยความระมัดระวังและเฉพาะเมื่อแพทย์ให้คำแนะนำ
ประเด็นความคิดที่สำคัญ
ส่วนประกอบบางอย่างในพืชกัญชาแสดงให้เห็นว่าเป็นการรักษาโรคสะเก็ดเงิน
ผลที่เกิดขึ้นด้านบวกของกัญชาในระบบภูมิคุ้มกันและตัวรับความเจ็บปวดแสดงให้เห็นว่า กัญชาอาจช่วยบรรเทาอาการในโรคสะเก็ดเงิน เช่นเดียวกับการรักษาใหม่ๆ คนที่คิดจะใช้กัญชาเพื่อจัดการโรคสะเก็ดเงินควรปรึกษาแพทย์ก่อนนำมาใช้ และควรอ้างถึงกฎหมายท้องถิ่นเกี่ยวกับการใช้กัญชาและสารแคนนาบินอยด์ (cannabinoid) ด้วย
เรื่องสำคัญที่ต้องจำไว้คือ การใช้กัญชาในเชิงยารักษาถือเป็น การแพทย์ทางเลือก (complementary treatment) ซึ่งหมายความว่าคนไข้ควรใช้กัญชาทางการแพทย์เป็นส่วนหนึ่งของแผนการรักษาที่ครอบคลุมมากขึ้น
แม้ว่าโรคสะเก็ดเงินเป็นโรคผิวหนังเรื้อรังยังไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ แต่ไม่ใช่โรคติดต่อ คนที่เป็นโรคสะเก็ดเงินจะมีปัญหาในเรื่องการเข้าสังคม เกิดความไม่มั่นใจ โรคนี้จึงมีผลต่อคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของการแต่งตัว การรับมือกับอาการของโรค ดังนั้นการทำความรู้จักกับโรค การดูแลตัวเอง การจัดการกับความเครียดจึงเป็นสิ่งสำคัญ การนำกัญชาทางการแพทย์มาใช้บำบัดอาการในโรคสะเก็ดเงินทำให้ร่างกายดีขึ้น ถือเป็นอีกหนึ่งทางเลือกสำคัญที่ใช้ในการรักษาโรคสะเก็ดเงิน