Last updated: 5 ก.ค. 2562 |
วันที่ 4 กรกฎาคม 2562 -11:55 น.
ภาคีเครือข่ายกลุ่มวิสาหกิจชุมชนเสนอให้สภาเกษตรกรอุดรธานีทำ MOU กับ รพ.มะเร็งอุดร เพื่อเร่งทำวิจัยกัญชารักษาผู้ป่วยมะเร็งเป็นต้นแบบของประเทศ โดยกลุ่มวิสาหกิจชุมชนพร้อมเข้าร่วมปลูกกัญชา-แปรรูปเป็นยากัญชาป้อนโรงพยาบาล
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อบ่ายวันที่ 4 ก.ค. 62 ที่ผ่านมา ณ ห้องประชุมสำนักงานสภาเกษตรกรจังหวัดอุดรธานี ซึ่งใช้เป็นศูนย์ประสานงานโครงการวิจัยกัญชาเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์จังหวัดอุดรธานี ภาคีเครือข่ายกลุ่มวิสาหกิจชุมชน เข้าพบสภาเกษตรกรฯ อุดรธานี โดยยื่นข้อเสนอให้ทำ MOU กับโรงพยาบาลมะเร็งอุดรธานี และเร่งทำโครงการวิจัยกัญชารักษาผู้ป่วยมะเร็งเป็นต้นแบบของประเทศ โดยมีนายศุภชัย ศรีทุมมา ประธานกลุ่มฯ พร้อมด้วยสมาชิกจำนวน 5 คน เข้าพบนายสมหมาย จันทะแจ่ม รองประธานสภาเกษตรกรจังหวัดอุดรธานี
โดยภาคีเครือข่ายกลุ่มวิสาหกิจชุมชนได้เสนอให้สำนักงานสภาเกษตรกรจังหวัดอุดรธานี ในฐานะศูนย์ประสานงานโครงการวิจัยกัญชาเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์จังหวัดอุดรธานี ดำเนินการประสานงานกับโรงพยาบาลมะเร็งอุดรธานี ร่วมลงนามบันทึกเป็นข้อตกลง (MOU) กับสำนักงานสภาเกษตรกรจังหวัดฯ จัดทำโครงการวิจัยการใช้กัญชารักษาผู้ป่วยโรคมะเร็งจังหวัดอุดรธานี
ทั้งนี้ ขอให้เปิดโอกาสให้กลุ่มวิสาหกิจชุมชนฯ มีส่วนร่วมในโครงการวิจัยฯ ดังกล่าวด้วย ด้วยการมีส่วนร่วมทดลองปลูกกัญชา แปรรูปผลิตภัณฑ์เป็นยากัญชา ตามความต้องการของโรงพยาบาลมะเร็งอุดรธานี นำไปทดลองรักษาผู้ป่วยโรคมะเร็งที่สมัครใจเข้าร่วมโครงการวิจัยฯ เนื่องจากจังหวัดอุดรธานีมีโรงพยาบาลมะเร็งประจำจังหวัดเป็นต้นทุนที่สามารถพัฒนาเป็นจังหวัดต้นแบบของประเทศได้
ด้าน ดร.นิรุจน์ อุทธา หัวหน้าสำนักงานสภาเกษตรกรฯ อุดรธานี ในฐานะผู้ประสานงาน/ศูนย์ประสานงานโครงการวิจัยกัญชาเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์จังหวัดอุดรธานี กล่าวขอบคุณกลุ่มวิสาหกิจฯ อำเภอบ้านดุง ที่มีส่วนร่วมฯ และให้คำแนะนำในการขับเคลื่อนโครงการวิจัยกัญชาทางการแพทย์จังหวัดอุดรธานีครั้งนี้ ซึ่งสำนักงานสภาเกษตรกรจังหวัดอุดรธานีจะได้นำประเด็นดังกล่าวนี้ไปหารือกับ นพ.อิสระ เจียวิริยบุญญา ผอ.รพ.มะเร็งอุดรธานี เพื่อหาแนวทางดำเนินงานจัดทำเป็นโครงการวิจัยฯ ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และกลุ่มวิสาหกิจชุมชนอย่างเร่งด่วนต่อไป
ทั้งนี้ กลุ่มวิสาหกิจชุมชนอำเภอบ้านดุงมีความพร้อมที่จะดำเนินการตามเงื่อนไข หลักเกณฑ์ของ อย.ให้ถูกต้องตามกฎหมายฯ โดยไม่ใช้งบประมาณของทางราชการ แต่ต้องการอยู่ภายใต้การควบคุมคุณภาพการผลิตของโรงพยาบาลมะเร็งอุดรธานี และต้องการให้โรงพยาบาลมะเร็งนำยากัญชาที่ผลิตได้ไปทดลองรักษาผู้ป่วยโรคมะเร็ง เพื่อให้ผู้ป่วยโรคมะเร็งมีทางเลือกในการรักษาโรคฯ เชื่อว่าจะเกิดประโยชน์ต่อผู้ป่วยมะเร็งที่ยากจนมีรายได้น้อย หากสามารถทำได้ อุดรธานีจะเป็นจังหวัดต้นแบบกัญชารักษาโรคของประเทศในอนาคตได้อย่างเป็นรูปธรรม
ที่มา: https://mgronline.com/local/detail/9620000063932?fbclid=IwAR2wKLOB_Kmeh1ZTt3woFfzkfNdlJ_pTWE5Tmx8GVeTBLk416-OiTezzAoE