Last updated: 10 ก.ค. 2562 |
วันที่ 10 กรกฎาคม 2562 -13:20 น.
'กัญชาพันธุ์หางกระรอก' งอกแล้ว ที่ ม.ราชมงคลสกลนคร คาดอีก 1เดือน เตรียมนำปลูกลงดิน ตั้งเป้าเก็บต้นกัญชาสดได้น้ำหนักไม่ต่ำกว่า 2 ตัน ส่ง รพ.พระอาจารย์ฝั้น อาจาโร จ.สกลนคร สกัดเป็นยาเพื่อการแพทย์
สถานที่ผลิตยาเสพติดให้โทษ ประเภท 5 (กัญชา) ภายในพื้นที่คณะทรัพยากรธรรมชาติ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน วิทยาเขตสกลนคร อ.พังโคน จ.สกลนคร
รศ.ดร.โฆษิต ศรีภูธร รองอธิการบดี ประจำวิทยาเขตสกลนคร ผศ.อัมพร ภูศรีฐาน ผู้ช่วยอธิการบดีประจำวิทยาเขตสกลนคร พร้อมด้วย อาจารย์อินทร์ธัชว์ ศรีบุตต์ หัวหน้าสาขาวิชาพืชศาสตร์ คณะทรัพยากรธรรมชาติ มทร.อีสาน วิทยาเขตสกลนคร เข้าตรวจความเรียบร้อยภายในโรงเรือนสถานที่ปลูกต้นกัญชา ยาเสพติดให้โทษประเภท 5 ที่รับใบอนุญาตจากองค์การอาหารและยา เป็นใบแรกของประเทศ ที่ให้สามารถทำการผลิต และปลูกกัญชา เพื่อประโยชน์ทางการแพทย์
ซึ่งพบว่าภายในโรงเรือนขนาด 13 x 50 เมตร ได้ติดตั้งพัดลมขนาดใหญ่เรียบร้อย ทำให้ระบบอากาศมีการไหลเวียนเข้าทางผ่านแผงดักกรองสิ่งปนเปื้อน โดยมีระบบน้ำคอยหล่อเลี้ยงให้เกิดความชื้นและละอองน้ำ ส่วนอากาศที่เข้ามาจะไหลผ่านออกทางด้านพัดลมขนาดใหญ่ สำหรับโครงสร้างของโรงเรือน ได้ใช้ผ้าพลาสติกใสมาคลุม สามารถให้แสงอาทิตย์ผ่านเข้ามาได้ทุกด้าน ทำให้ต้นกัญชาสามารถรับแสงแดดได้เต็มที่ ในช่วงเวลากลางวัน
นอกจากนี้ยังได้มีการเตรียมถุงบิ๊กแบ็ค ใส่ดินปลูกที่มีสารอาหาร แร่ธาตุ ที่จำเป็นตามสูตรที่ได้ทำการวิจัยมา และทุกขั้นตอนต้องไร้สิ่งปนเปื้อน เพื่อให้กัญชาที่ได้มีคุณภาพนำไปผลิตเป็นยาที่มีคุณภาพไม่มีสารตกค้าง ส่วนเมล็ดกัญชา พันธุ์หางกระรอก ที่เพาะไว้ ในถาดหลุมเพาะ พบว่า ได้เริ่มงอกออกมาเป็นต้นอ่อน ยาวประมาณ 1 เซนติเมตร คาดว่าอีก 1 เดือน จะสามารถทำการนำต้นกล้ากัญชา มาลงในดินปลูกภายในโรงเรือน สถานที่ผลิตสิ่งเสพติดให้โทษประเภท 5 แห่งนี้ได้
ด้านระบบการรักษาความปลอดภัย มีการก่อสร้างรั้วกั้นพื้นที่ 2 ชั้น มีการติดตั้งกล้องวงจรปิดไว้ทั่วพื้นที่ ไร่ โดยภายในโรงเรือนจะมีเจ้าหน้าที่เฝ้าตลอด 24 ชั่วโมง ผู้ที่สามารถเข้าออก ต้องมีหน้าที่ที่เกี่ยวข้องเท่านั้น ก่อนเข้าภายในรั้วจะต้องมีการสแกนนิ้วมือ และสแกนใบหน้าแสดงเอกลักษณ์บุคคล และสิ่งต้องห้ามคือห้ามพกโทรศัพท์มือถือ เครื่องมือสื่อสาร และกล้องบันทึกภาพ ซึ่งเมื่อเริ่มกระบวนการปลูกต้นกัญชาในโรงเรือนเริ่มต้นขึ้น ระบบการรักษาความปลอดภัยจะเข้มงวดมาก ตั้งแต่กระบวนการปลูกที่รัดกุมทุกขั้นตอน เริ่มตั้งแต่การปลูก การดูแล การขนส่ง จนถึงกระบวนการผลิตเป็นยา
รศ.ดร.โฆษิต ศรีภูธร รองอธิการบดี ประจำวิทยาเขตสกลนคร กล่าวว่า สาเหตุที่เลือกเอากัญชาสายพันธ์หางกระรอกมาปลูก เนื่องจากเป็นสายพันธุ์ดั้งเดิม ในแถบเทือกเขาภูพาน จังหวัดสกลนคร เมื่อสกัดออกมาเป็นยาแล้ว ให้สารออกฤทธิ์ทางยาสูง สามารถนำไปประกอบในการรักษาโรคมะเร็งได้ โดยแต่ละปีจะทำการปลูกกัญชา 2 ร่อง หรือ 2 รุ่น แต่ละรุ่นจะได้น้ำหนักกัญชาสด ประมาณ 2 ตัน ซึ่งจะนำทุกส่วนของต้นกัญชาไปสกัดเป็นยา ทางมหาวิทยาลัยราชมงคลอีสาน ไม่ได้ผลิตตัวยาเอง แต่จะส่งต่อไปที่ รพ.พระอาจารย์ฝั้น อ.พรรณนานิคม จ.สกลนคร เพื่อสกัดออกมาเป็นยา นำไปสู่ระบบการบริการทางการแพทย์ต่อไป
อย่างไรก็ตาม อยากทำความเข้าใจกับประชาชนในพื้นที่ว่า มทร.อีสาน วิทยาเขตสกลนคร อ.พังโคน ไม่ได้ปลูกกัญชา เพื่อจำหน่ายให้กับทางโรงพยาบาล เป็นการทำโครงการวิจัยครั้งนี้เพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ เราใช้ทุนและทรัพยากรของทางมหาวิทยาลัย เมื่อเสร็จขั้นตอนการปลูกแล้ว ก็ต้องส่งต่อให้กับโรงพยาบาล เพื่อนำไปต่อยอดองค์ความรู้ในด้านการแพทย์
แต่ในอนาคตเราจะประกาศเป็นศูนย์กลางทางการแพทย์ รักษาควบคู่กันไปกับแพทย์แผนปัจจุบัน ซึ่ง มทร.อีสานสกลนคร มีการเรียนการสอนทางด้านเกษตร เราสามารถปลูกได้ เรามีโรงพยาบาลทางด้านการแพทย์แผนไทย ที่รองรับการนำกัญชามาผลิตร่วมกับสมุนไพร 16 สูตรตัวยา เราจึงได้รับใบอนุญาตที่จะผลิตยาได้ในอนาคตจะเป็นการดำเราเนินการแบบครบวงจรเราทำตามขั้นตอนของระเบียบกฎหมายอย่างเข้มงวด
ที่มา: http://www.komchadluek.net/news/local/378870?re=