เมืองไทยอยู่ยากขึ้นทุกวัน! 'ดร.อาทิตย์' ซัด พวกศรีธนญชัย โยกโย้ กีดกันประชาชนเข้าถึงกัญชารักษาโรค

Last updated: 22 ก.ค. 2562  | 

วันที่ 22 กรกฎาคม 2562 -14:25 น.


ดร.อาทิตย์ อุไรรัตน์ อดีตประธานสภาผู้แทนราษฎรและอธิการบดีม.รังสิต ที่วิจัยเรื่องกัญชา แสดงความเห็นกรณีน้ำมันกัญชาของอ.เดชา ศิริภัทร ผ่านเพจเฟซบุ๊ก ระบุข้อความว่า...

เมืองไทยนี่อยู่ยากขึ้นทุกวัน
มีแต่ ศรีธนญชัยเต็มเมือง โยกโย้ เตะถ่วง ปัดสวะ บิดเบือน แถไถ กีดกัน กลั่นแกล้งกันตลอด

สำนึกในการช่วยเหลือเอื้ออาทร เข้าใจเห็นอกเห็นใจ อำนวยความสะดวกบริการประชาชนผู้ยากไร้แบบไทยๆหายไปไหนหมด หาแทบไม่ได้ในราชการไทย สถาบันการแพทย์แผนไทย และสถาบันความร่วมมือการแพทย์แผนไทย-จีน ผมเป็นคนตั้งขึ้นมาเองตอนที่อยู่กระทรวงสาธารณสุขสถาบันพระบรมราชชนก สถาบันพระบรมราชชนนี สถาบันสิรินธร ผมก็เป็นคนตั้งมากับมือ เปิดใจให้กว้างหน่อยเถอะ ท่านผู้มีอำนาจบาตรใหญ่ทั้งหลาย โลกจะได้แซ่ซ้องสรรเสริญเมื่อสิ้นบุญแล้ว

น้ำมันเดชา กับนิติวิธีการใช้ตีความกฎหมาย : การกีดกันประชาชนจากการเข้าถึงกัญชาเพื่อการรักษาโรค(ตอนที่ ๑)

เครือข่าย ๑๒ องค์กร สนับสนุนกัญชาเสรีเพื่อการรักษาโรคสำหรับประชาชนได้ออกแถลงการณ์เรียกร้องให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขแก้ไขเพิ่มเติมระเบียบกระทรวงสาธารณสุขว่าด้วยการรับรองหมอพื้นบ้าน ๑๐ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๖๒ เพื่อรับรองหมอพื้นบ้านราว ๓,๐๐๐ คน ตามระเบียบกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ให้เป็นหมอพื้นบ้าน ตามพระราชบัญญัติวิชาชีพการแพทย์แผนไทย พ.ศ. ๒๕๕๖ ซึ่งมีสาเหตุมาจากการการประชุมของคณะกรรมการควบคุมยาเสพติดให้โทษ เมื่อวันที่ ๑๙ กรกฎาคม ๒๔๖๒ ที่ไม่รับรองสูตรน้ำมันกัญชาของหมอเดชา ศิริภัทร โดยอ้างว่าหมอเดชายังไม่ได้รับการรับรองให้เป็นหมอพื้นบ้านตามพรบ.วิชาชีพการแพทย์แผนไทย พ.ศ. ๒๕๕๖ ซึ่งเพิ่งออกระเบียบกระทรวงสาธารณสุข ว่าด้วยการรับรองหมอพื้นบ้าน พ.ศ. ๒๕๖๒ ทั้งที่หมอเดชาได้รับการรับรองจากกรมพัฒนาการแพทย์แผนไทย เป็นหมอพื้นบ้าน เมื่อวันที่๒๔ เมษายน ๒๕๖๒

เรื่องนี้จึงเป็นประเด็นที่ต้องตั้งคำถามกับคณะกรรมการควบคุมยาเสพติดให้โทษในการใช้การตีความกฎหมาย ประเด็นดังนี้

หมอพื้นบ้าน มีกฎหมายใดที่ควบคุมกำกับการเป็นหมอพื้นบ้าน และการได้รับการรับรองให้เป็นหมอพื้นบ้านของหมอเดชาเป็นการรับรองโดยกฎหมายใด

เมื่อก่อนที่จะมีพระราชบัญญัติวิชาชีพแพทย์แผนไทย พ.ศ. ๒๕๕๖ ไม่มีกฎหมายใดที่รับรองการเป็นหมอพื้นบ้าน จนกระทั่งมีการจัดตั้งกรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือกขึ้น โดยโอนหน่วยงานสถาบันการแพทย์แผนไทย ศูนย์ความร่วมมือการแพทย์แผนไทยจีน และศูนย์ประสานงานการแพทย์ทางเลือก มาสังกัดกรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือกที่ตั้งขึ้นใหม่ตามพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. ๒๕๔๕ และพระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม พ.ศ. ๒๕๔๕ (ลงวันที่ ๓ ตุลาคม ๒๕๔๕) และกฎกระทรวงแบ่งส่วนราชการกรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข (ลงวันที่ ๙ ตุลาคม ๒๕๔๕) และต่อมาในปี พ.ศ. ๒๕๖๐ ได้เปลี่ยนชื่อเป็น กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก

ดังนั้นการเป็นหมอพื้นบ้านจึงเป็นกรณีที่ถูกควบคุมกำกับตามหลักการบริหารราชการแผ่นดินโดยอาศัยการจัดโครงสร้างการบริหารให้หน่วยงานระดับกรมดูแลมาตั้งแต่ ปี พ.ศ. ๒๕๔๕เป็นต้นมา ซึ่งก็ได้มีการออกระเบียบกรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือกว่าด้วยการออกหนังสือรับรองหมอพื้นบ้าน พ.ศ. ๒๕๕๔ ขึ้นและมีการปรับปรุงเนื้อหาโดยระเบียบกรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือกว่าด้วยการออกหนังสือรับรองหมอพื้นบ้าน (ฉบับที่ ๒)พ.ศ. ๒๕๕๕ จึงเท่ากับว่า หมอพื้นบ้านถูกการกำกับการประกอบวิชาชีพโดย “กฎ” ที่ออกตามพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. ๒๕๓๔และเนื่องจากมีเนื้อหาเกี่ยวการยกเว้นบุคคลที่ได้รับอนุญาตให้ทำการรักษาด้วยการเป็นหมอพื้นบ้านอันเป็นการประกอบวิชาชีพตามพระราชบัญญัติการประกอบโรคศิลปะพ.ศ. ๒๕๔๒ ด้วย

อย่างไรก็ตาม ได้มีการตราพระราชบัญญัติวิชาชีพการแพทย์แผนไทย พ.ศ. ๒๕๕๖ ระเบียบกรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ดังกล่าวทั้งสองฉบับ จึงเป็น “กฎ” ตาม พระราชบัญญัติวิชาชีพการแพทย์แผนไทย พ.ศ. ๒๕๕๖ เพราะในบทเฉพาะกาล มาตรา ๖๒ ได้รับรองให้ “กฎ” ที่ออกตามกฎหมายว่าด้วยการประกอบโรคศิลปะในส่วนที่เกี่ยวกับการประกอบวิชาชีพการแพทย์แผนไทย เป็น “กฎ” ตามกฎหมายดังกล่าวไปด้วย แต่ต้องออก “กฎ” ตามพระราชบัญญัติวิชาชีพการแพทย์แผนไทย พ.ศ. ๒๕๕๖ ภายในสองปี นับแต่วันที่พระราชบัญญัติดังกล่าวมีผลใช้บังคับ ซึ่งข้อเท็จจริงปรากฏว่า ตั้งแต่จัดตั้ง กรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๔๕ และเปลี่ยนชื่อมาเป็น กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก เมื่อ ปี พ.ศ. ๒๕๖๐ ไม่เคยออก “กฎ” ใดอันเกี่ยวกับ “หมอพื้นบ้าน” อีก เลย จึงเท่ากับว่า หมอเดชา เป็นหมอพื้นบ้านที่ได้รับการรับรองตั้งแต่ปลายเดือนเมษายน ๒๕๖๒ ( ไม่มี “กฎ” เกี่ยวกับการรับรองหมอพื้นบ้านใดๆอีก เท่ากับ เป็นการละเว้นต่อหน้าที่ในการให้มีการปฏิบัติตามกฎหมายหรือไม่) และหมอพื้นบ้านอีก ๓,๐๐๐ กว่าคน ก็ได้รับรองตาม “กฎ” ดังกล่าว (แต่เอกสารรายงานสถานการณ์การแพทย์พื้นบ้าน แผนไทย และทางเลือก ของกรม กรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ระบุว่ามี หมอพื้นบ้านทั่วประเทศ ถึง ๒๗.๗๖๐ คน)


จนกระทั่งมีระเบียบกระทรวงสาธารณสุข ว่าด้วยการรับรองหมอพื้นบ้าน พ.ศ. ๒๕๖๒ ขึ้นจึงเกิดการตีความ โดยคณะกรรมการยาเสพติดให้โทษ ว่า น้ำมันเดชา เป็นน้ำมันกัญชาที่หมอเดชา ไม่ได้เป็นหมอพื้นบ้านตามพระราชบัญญัติวิชาชีพการแพทย์แผนไทย พ.ศ. ๒๕๕๖ แต่เป็นหมอพื้นบ้านตามกฎหมายอื่น ซึ่งผมเห็นว่าเป็นการใช้และการตีความกฎหมายที่ไม่สอดคล้องกับบริบทความเป็นมาของหมอพื้นบ้าน ที่มีมาแต่เดิม และไม่แน่ใจว่าได้ศึกษาของบริบทของกฎหมายและบทเฉพาะกาลของพระราชบัญญัติวิชาชีพการแพทย์แผนไทย พ.ศ. ๒๕๕๖ อย่างถี่ถ้วนแค่ไหน

แต่ผมเห็นว่าเป็นใช้นิติวิธีการตีความกฎหมายที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ตั้งแต่การตีความกฎหมายที่ไม่สอดคล้องกับบทเฉพาะกาล เป็นการตีความที่ไม่สุจริต ตัดสิทธิของผู้ที่มีสิทธิเป็นหมอพื้นบ้าน ในการใช้ “กัญชา” เพื่อการรักษาโรคให้แก่ประชาชนเป็นจำนวนมาก ยังรวมถึงการละเว้นไม่ออก “กฎ” ในการบังคับการกฎหมาย เป็นเวลายาวนานถึง ๖ ปี แต่มาออก “กฎ” คือ ระเบียบกระทรวงสาธารณสุข ว่าด้วยการรับรองหมอพื้นบ้าน พ.ศ. ๒๕๖๒ เมื่อวันที่ ๑๐ มิถุนายน ๒๕๖๒ และส่งผลต่อการตีความการเป็น “หมอพื้นบ้าน” ของหมอเดชา ในการประชุมคณะกรรมการยาเสพติดให้โทษ เมื่อวันที่ ๑๙ กรกฎาคม ๒๔๖๒ หลังจากนั้นอีกประมาณเดือนเศษทันที เป็นการออก “กฎ” ที่สร้างเครื่องมือกีดกันไม่ให้น้ำมันที่มีส่วนผสมของกัญชา ของ หมอพื้นบ้าน ได้รับการรับรองอย่างเป็นกระบวนการร่วมกันทุกฝ่าย


ตอนต่อไปจะกล่าวถึง ระเบียบกระทรวงสาธารณสุข ว่าด้วยการรับรองหมอพื้นบ้าน พ.ศ. ๒๕๖๒ คืออะไร

กระบวนการกีดกันประชาชนให้เข้าถึงกัญชาเพื่อรักษาโรคยังคงดำเนินการอยู่ต่อไป

ที่มา: https://siamrath.co.th/n/91879