Last updated: 5 ส.ค. 2562 |
วันที่ 26 กรกฎาคม 2562 -17:40 น.
"Exclusive"
หมายเหตุ : เผยแพร่ครั้งแรกเป็นภาษาไทยเมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม 2562 โดย Cannhealth
เขียน/แปล: วันดี กุศลธรรมรัตน์/ Wandee K.
เรียบเรียง : อภินันท์ อุ่นทินกร: /Apinan Untinkorn
ถึงแม้ที่ผ่านมาจะมีข้อมูลระบุว่ากัญชาสามารถช่วยยกระดับกิจกรรมด้านเพศสัมพันธ์ของคนเราได้ แต่ก็ยังคงมีข้อสงสัยเกี่ยวกับประสิทธิภาพของกัญชาสำหรับผู้ที่ต้องการตั้งครรภ์ ทว่าการศึกษาชุดใหม่ที่เผยแพร่โดยวารสารสมาคมการแพทย์ของแคนาดาได้เน้นย้ำถึงผลการวิจัยที่สำคัญ 4 ประการเกี่ยวกับผลกระทบการใช้กัญชาที่มีต่อภาวะเจริญพันธุ์
1. สารเตตราไฮโดรแคนนาบินอล (Tetrahydrocannabinol :THC) ส่งผลต่อระบบเอนโดแคนนาบินอยด์ (Endocannabinoid system) ในร่างกายซึ่งพบได้ทั่วไปในเนื้อเยื่อสืบพันธุ์ โดยสาร THC จะทำหน้าที่กระตุ้นการทำงานของแคนนาบินอยด์ รีเซพเตอร์ (Cannabinoid receptors) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของระบบเอนโดแคนนาบินอยด์ภายในเนื้อเยื่อที่พบได้ในสมองส่วนไฮโปทาลามัส ต่อมพิทูอิทารี และภายในอวัยวะสืบพันธุ์ของเพศชายและหญิง
2. การใช้กัญชาสามารถลดจำนวนของอสุจิได้ โดยผู้ที่สูบกัญชามากกว่าหนึ่งครั้งต่อสัปดาห์ติดต่อกันเป็นเวลา3 เดือนจะมีจำนวนอสุจิลดลง 29%
3. การใช้กัญชาอาจชะลอหรือยับยั้งการตกไข่ กล่าวคือ โดยเฉลี่ยแล้วกลุ่มผู้หญิงที่สูบกัญชามากกว่า 3 ครั้งในช่วง 3 เดือนก่อนการศึกษา มีการตกไข่ล่าช้าเป็นเวลา 1.7 ถึง 3.5 วัน
4. สำหรับคู่สามีภรรยาที่ประสบภาวะมีบุตรยากหรือภาวะไม่เจริญพันธุ์ การเปลี่ยนแปลงของจำนวนอสุจิและระยะเวลาในการตกไข่ที่เกิดจากการสูบกัญชานั้นอาจส่งผลให้การตั้งครรภ์เป็นไปได้ยากขึ้น อย่างไรก็ตาม สำหรับคู่สามีภรรยาที่ไม่ได้มีปัญหาภาวะมีบุตรยาก การสูบกัญชาก็ไม่ได้ส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อระยะเวลาในการตั้งครรภ์แต่อย่างใด ยิ่งไปกว่านั้นนักวิทยาศาสตร์บางรายได้แนะนำอีกด้วยว่าผลกระทบของกัญชาที่มีต่อภาวะเจริญพันธุ์นั้นจะสะสมอย่างต่อเนื่องเมื่อเวลาผ่านไป นั่นหมายความว่าผู้หญิงเสพติดการสูบกัญชาในช่วงอายุ 20 กลางๆ อาจมีแนวโน้มที่จะประสบปัญหาในการตั้งครรภ์ล่าช้าได้
ทว่าการศึกษาอื่นๆ ดูเหมือนจะมีความขัดแย้งต่อผลการวิจัยในการศึกษานี้บางประเด็น ตัวอย่างเช่น การศึกษาในปี 2018 ซึ่งดำเนินการโดยนักวิจัยด้านสาธารณสุขของมหาวิทยาลัยบอสตันและตีพิมพ์ในวารสารด้านระบาดวิทยาและสุขภาพชุมชน (the Journal of Epidemiology and Community Health : JECH) ที่ทำการสำรวจกับผู้หญิงจำนวน 4,000 รายและคู่สมรสเพศชายจำนวน 1,125 ราย โดยการศึกษาครั้งนี้ได้ข้อสรุปว่าดูเหมือนการใช้กัญชาของผู้ชายและผู้หญิงจะไม่ได้ส่งผลให้โอกาสในการตั้งครรภ์ของคู่สามีภรรยานั้นลดน้อยลง
นอกจากนี้ในงานวิจัยซึ่งจัดทำโดย โรงเรียนสาธารณสุขแห่งฮาร์วาร์ด ที. เอช. ชาน (the Harvard T.H. Chan School of Public Health) ระบุว่าผู้ชายที่เคยสูบกัญชาในบางช่วงของชีวิตมีปริมาณอสุจิสูงกว่าอย่างมีนัยสำคัญเมื่อเทียบกับผู้ชายที่ไม่เคยสูบกัญชามาก่อน
ตามข้อมูลจาก ฟีบี นัสซาน (Feiby Nassan) ผู้เขียนนำของการศึกษาชุดนี้และนักวิจัยหลังปริญญาเอกที่โรงเรียนฮาร์วาร์ด ชาน (Harvard Chan School) ระบุว่าการค้นพบนี้สอดคล้องกับการตีความสองแบบที่แตกต่างกัน โดยข้อแรกคือ การใช้กัญชาในระดับต่ำจะเป็นประโยชน์ต่อการผลิตอสุจิ เนื่องจากส่งผลต่อระบบเอ็นโดแคนนา
บินอยด์ (Endocannabinoid system) ซึ่งเป็นที่ทราบกันดีว่ามีบทบาทต่อภาวะเจริญพันธุ์ แต่คุณประโยชน์เหล่านั้นจะหายไปเมื่อมีการบริโภคกัญชาในระดับที่สูงขึ้น และนัสซานยังเสริมอีกว่า “ การตีความที่มีความเป็นไปได้มากพอๆ กันก็คือการค้นพบของเราอาจสะท้อนถึงความจริงที่ว่า ผู้ชายที่มีระดับเทสโทสเทอโรนสูงกว่ามีแนวโน้มจะมีพฤติกรรมการแสวงหาความเสี่ยงมากกว่า รวมถึงมีการสูบกัญชาที่มากกว่าด้วย”
ดังนั้น สิ่งที่การศึกษาเหล่านี้ชี้ให้เห็นก็คือ จำเป็นต้องมีงานวิจัยเพิ่มเติมเกี่ยวกับผลกระทบของกัญชาต่อภาวะเจริญพันธุ์ เนื่องด้วยในปัจจุบันมีการศึกษาเกี่ยวกับกัญชาและภาวะเจริญพันธุ์ของมนุษย์เพียงเล็กน้อยเท่านั้น นอกจากนี้การศึกษาที่มีกลุ่มตัวอย่างเป็นผู้รายงานผลด้วยตนเองก็ยังไม่น่าเชื่อถือนัก อันเนื่องมาจากกัญชาเป็นสิ่งผิดกฎหมายในหลายรัฐและประเทศ รวมทั้งยังไม่สามารถควบคุมคุณภาพได้ และอีกเหตุผลคือเมื่อกัญชาถูกทำให้ถูกกฎหมายในหลายพื้นที่ การใช้กัญชาจะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้เพื่อให้เข้าใจถึงผลกระทบของกัญชาต่อภาวะเจริญพันธุ์และช่วยให้แพทย์สามารถให้คำปรึกษาผู้ป่วยได้ดีขึ้น
*อย่างไรก็ตามโดยทั่วไปแล้วคนที่พยายามจะตั้งครรภ์ควรหลีกเลี่ยงการใช้กัญชา*
ที่มา: thegrowthop.com, healthline.com
By Becky Garrison, The Fresh Toast, July 17, 2019
https://www.thegrowthop.com/cannabis-health/the-connection-between-cannabis-and-fertility
https://www.healthline.com/health-news/5-things-to-know-about-fertility-and-marijuana
27 เม.ย 2564