Last updated: 2019-08-01 |
วันที่ 1 สิงหาคม 2562 -14:45 น.
อย่างที่ทราบดีว่า หลายประเทศทั่วโลกผ่อนปรนกฎหมายอนุญาตให้ประชาชนใช้กัญชาทางการแพทย์ ได้อย่างถูกต้องหลังมีการปลดล็อกให้สามารถนำมาใช้ในทางการแพทย์ได้ โดย กัญชา เป็นพืชชนิดหนึ่งที่มีทั้งประโยชน์และโทษอยู่ในตัว พืชชนิดนี้จึงถูกจัดให้เป็นยาเสพติดประเภทที่ 5 ตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 แต่เมื่อเร็วๆ นี้ รัฐบาลไทยได้มีการแก้กฎหมายใหม่เพื่อเปิดโอกาสให้นำกัญชาไปศึกษาและวิจัยเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ และนำไปใช้รักษาโรคภายใต้การควบคุมดูแลของแพทย์ได้
สำหรับใครก็ตามที่จะปลูกกัญชาได้ จะต้องรู้ถึง 3 สิ่งนี้
1. จะปลูก “กัญชา” ได้ต้องเป็นผู้มีสิทธิ ดังนี้
- หน่วยงานของรัฐ ที่มีหน้าที่ศึกษาวิจัย หรือจัดการเรียนการสอนทางการแพทย์ เภสัชศาสตร์ วิทยาศาสตร์ หรือเกษตรศาสตร์ หรือมีหน้าที่ให้บริการทางการแพทย์ หรือเภสัชกรรม หรือวิทยาศาสตร์ หรือให้บริการทางเกษตรกรรม เพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ หรือเภสัชกรรม หน่วยงานของรัฐที่มีหน้าที่ในการป้องกัน ปราบปราม และแก้ไขปัญหายาเสพติด หรือสภากาชาดไทย
- สถาบันอุดมศึกษาเอกชน ที่มีการเรียนการสอนและวิจัยทางการแพทย์หรือเภสัชศาสตร์
- เกษตรกรที่รวมกลุ่มเป็นวิสาหกิจชุมชน วิสาหกิจเพื่อสังคม หรือสหกรณ์การเกษตร และดำเนินการภายใต้ความร่วมมือ เช่น สหกรณ์การเกษตร วิสาหกิจชุมชน ที่อยู่ภายใต้หน่วยงานของรัฐ หรือ หรือสถาบันอุดมศึกษาเอกชน
- ผู้ขออนุญาตอื่น ๆ ตามที่กำหนดในกฎกระทรวง
2. จะปลูก “กัญชา” ได้ต้องได้รับอนุญาต
- ผู้มีคุณสมบัติตามกฎหมายตามข้อ 1 จะต้องยื่นขออนุญาต โดยในกรุงเทพฯ ยื่นที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ผ่านความเห็นจากคณะกรรมการควบคุมยาเสพติดโทษ เสนอเลขาธิการ อย. เป็นผู้อนุญาต ส่วนในต่างจังหวัดให้ยื่นที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด ณ ท้องที่ที่สถานที่ปลูกตั้งอยู่ โดยผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการที่มีผู้ว่าราชการจังหวัด แต่งตั้งหรือมอบหมาย เสนอผ่านความเห็นจากคณะกรรมการควบคุมยาเสพติดให้โทษ เสนอเลขาธิการ อย. เป็นผู้อนุญาต
3. จะได้รับอนุญาตต้องดำเนินการ ดังนี้
- ยื่นเอกสารขออนุญาต โดยทำเป็นโครงการ ซึ่งต้องสอดคล้องกับวัตถุประสงค์เพื่อการแพทย์ หรือเพื่อการศึกษาวิจัย เช่น ต้องระบุสถานที่เพาะปลูก ปริมาณการปลูกต้องสอดคล้องกับแผนการผลิต แผนการจำหน่าย และแผนการใช้ประโยชน์ รวมถึงต้องระบุให้เห็นถึงมาตรการรักษาความปลอดภัย เพื่อป้องกันการรั่วไหลของกัญชา รวมทั้งสถานที่ที่ปลูกต้องมีภาพถ่ายและพิกัดสถานที่ทางภูมิศาสตร์ เป็นต้น
สำหรับผู้ป่วยที่ประสงค์จะใช้กัญชาเพื่อรักษาโรค ขณะนี้มีสถานพยาบาลทั่วประเทศที่มียากัญชาที่มีคุณภาพ มาตรฐาน และปลอดภัย ใช้ในทางการแพทย์อย่างเพียงพอ มีการกระจายยาทั่วถึง และเป็นระบบ รวมทั้งมีแพทย์และเภสัชกรที่ผ่านการอบรม 400 คน และแพทย์แผนไทยที่ผ่านการอบรม 2,900 คน ซึ่งผู้ป่วยจะสามารถเข้าถึงบริการทางการแพทย์ในสถานพยาบาลที่มีมาตรฐานภายใต้การดูแลของแพทย์เพื่อการรักษาที่มีประสิทธิภาพสูงสุด สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม สายด่วน ป.ป.ส.1386 สายด่วน อย.1556 กด 3
ที่มา: https://smartsme.co.th/content/224184
2021-04-27