หมอธีระวัฒน์ ห่วงผู้ป่วยรับ "น้ำมันกัญชา" เกรดทางการแพทย์ เเนะ 1 หยดไม้จิ้มฟันอาจเพียงพอ

Last updated: 6 ส.ค. 2562  | 

วันที่ 6 สิงหาคม 2562 -15:10 น.


หมอธีระวัฒน์ ห่วงผู้ป่วยรับ “น้ำมันกัญชา” เกรดทางการแพทย์ แนะเบื้องต้นแค่ 1 หยดไม้จิ้มฟันอาจเพียงพอ ด้าน ผู้อำนวยการ อภ.ยันที่ผลิตได้เทียบมาตรฐานโลก ส่วนการใช้หมอพิจารณาตามความเหมาะสม

ความคืบหน้ากรณีองค์การเภสัชกรรม(อภ.) ผลิตภัณฑ์น้ำมันกัญชาเกรดทางการแพทย์และเตรียมจะเปิดตัวพร้อมส่งมอบให้กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ผ่านทางนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการ สธ. อย่างเป็นทางการในวันที่ 7 สิงหาคมนี้ เพื่อนำไปทดลองใช้กับผู้ป่วยที่มีความจำเป็นต้องใช้ในเร็วๆ นี้นั้น

เมื่อวันที่ 4 สิงหาคม ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา อาจารย์คณะแพทย์ศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวแสดงความห่วงใยถึงเรื่องดังกล่าว ว่า น้ำมันกัญชาเกรดท่งการแพทย์ที่ อภ. ผลิตได้และเตรียมส่งมอบให้ สธ. มี 3 สูตร คือสูตรที่มีสารทีเอชซี (THC) สูง จำนวน 4,500 ขวด สูตรสารซีบีดี (CBD)  สูง 500 ขวด และสูตรที่มีอัตราส่วนสารซีบีดีและทีเอชซี 1 ต่อ 1 จำนวน 1,500 ขวด รวมแล้ว 6,500 ขวด  ขณะนี้มีการจัดทำบรรจุภัณฑ์ พร้อมระบุปริมาณและวิธีการใช้ไว้ชัดเจน ซึ่งเป็นไปตามมาตรฐาน แม้ขณะนี้ กรมการแพทย์ สธ. จะมีการวางแผนการนำไปใช้ โดยเบื้องต้นสูตรที่มีสารทีเอชซีสูงจะนำมาวิจัยใช้กับเซลล์มะเร็งในหลอดทดลองก่อน ส่วนการใช้กับผู้ป่วยมะเร็งนั้น คาดว่าจะเริ่มปลายเดือนสิงหาคมนี้ โดยสถาบันมะเร็งแห่งชาติได้เปิดรับสมัครผู้ป่วยมะเร็งระยะสุดท้าย เพื่อคัดเลือกเข้าร่วมโครงการวิจัยกัญชาทางการแพทย์สูตรทีเอชซีและซีบีดีอัตราส่วน 1 ต่อ 1 แต่สิ่งที่น่ากังวลคือ จะใช้อย่างไรให้เหมาะสมและปลอดภัยกับผู้ป่วย

ศ.นพ.ธีระวัฒน์ กล่าวว่า ในฐานะแพทย์และนักวิชาการศึกษาในเรื่องดังกล่าว มีความเห็นว่าปริมาณการใช้ที่ อภ. ระบุข้างขวดและบรรจุภัณฑ์นั้น อาจจะสูงเกินไปหากมีการนำไปใช้กับผู้ป่วย เพราะสารกัญชานั้นแม้จะหยดเพียง 1 หยด ประมาณ 0.5 มิลลิกรัม แต่ในปัจจุบันพบว่า การใช้กัญชาจากภายนอกในการช่วยบรรเทาอาการ หรือแม้แต่รักษาโรคนั้น แท้จริงแล้วเป็นการแจ้งเตือนร่างกาย คือ ไปกระตุ้นร่างกายให้สร้างสารกัญชาตามธรรมชาติขึ้นมาเอง และปรับสมดุลแก้ไขสิ่งผิดปกติที่เกิดขึ้นในร่างกายโดยอัตโนมัติ ดังนั้นขนาดที่จะนำมาใช้นั้น ถึงแม้ว่าจะใช้ตามที่ระบุในบางรายอาจจะมากเกินกว่าที่ต้องการ และอาจจะทำให้เกิดผลข้างเคียงและที่สำคัญก็คือ ปริมาณที่ใช้หากสูงเกินไป อาจจะไม่ได้ผลลัพธ์ดีกว่าปริมาณที่เริ่มต่ำๆ

“จึงเสนอว่า เบื้อต้นควรทดลองให้ผู้ป่วยน้อยกว่า 1 หยด เช่น โดยใช้ปลายไม้จิ้มฟันจุ่มน้ำมันกัญชา หากผู้ป่วยมีอาการดีขึ้นได้ในปริมาณ 1 ปลายไม้จิ้มฟัน ก็ให้ใช้ในปริมาณนั้น แต่หากรายใดให้แล้วอาการไม่ดีขึ้น ก็ให้เพิ่มปริมาณจนร่างกายตอบสนองต่อน้ำมันกัญชาที่ทำให้อาการดีขึ้น ทั้งนี้โดยที่จะต้องไม่มีอาการที่แสดงว่าได้รับในปริมาณเกิน ยกตัวอย่างเช่น มีอาการงง เซ มีอาการคลื่นไส้ หรือนอนยาวนานกว่าธรรมดา เป็นต้น ” ศ.นพ.ธีระวัฒน์ กล่าว

ด้าน นพ. วิฑูรย์ ด่านวิบูลย์ ผู้อำนวยการองค์การเภสัชฯ กล่าวว่า ในส่วนของข้อห่วงใยในการนำไปใช้นั้น จะมีการทำความเข้าใจถึงแนวทางการใช้กับแพทย์ผู้สั่งจ่ายยาอย่างละเอียด ทั้งนี้ในปริมาณที่ระบุข้างบรรจุภัณฑ์นั้น แพทย์ยังสามารถปรับลดปริมาณได้ ขึ้นอยู่กับความเหมาะสมซึ่งเน้นคำนึงถึงความปลอดภัยของผู้ป่วยเป็นสำคัญ และว่าน้ำมันกัญชาที่ อภ.ผลิตเป็นเกรดทางการแพทย์เทียบเท่ามาตรฐานโลก โดยสกัดด้วยเอธานอลระดับสูง และใช้อุณหภูมิ 50 องศาเซลเซียส ทำให้น้ำมันกัญชาที่ได้มีความใส ไม่มีตะกอน ไม่มีคลอโรฟิลล์ สำหรับล็อตที่ 2 อยู่ระหว่างเตรียมการปลูกต้นกัญชา คาดว่าจะสามารถปลูกได้ภายใน 1-2เดือนนี้

ที่มา: https://www.matichon.co.th/local/quality-life/news_1611459