"อ.อ๊อด" เสนอเปิดเสรีกัญชาทำยาภายนอกก่อนเป็นยากิน

Last updated: 19 ส.ค. 2562  | 

วันที่ 19 สิงหาคม 2562 -16:44 น.

"อ.อ๊อด" เผย "กัญชา" มีสารมากกว่า 483 ตัว หนุนเปิดเสรีใช้ทำยาทาภายนอกก่อนยากิน หากจะทำยารับประทานควรรอให้สกัดสารบริสุทธิ์ ผสมได้สัดส่วนที่ถูกต้อง ป้องกันอาการเสพติด พร้อมแนะสมุนไพรอื่นมีสรรพคุณทางยาอีกมาก

รศ.ดร.วีรชัย พุทธวงศ์ หัวหน้าห้องปฏิบัติการวิจัยกัญชาเพื่อการแพทย์ แห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก Weerachai Phutdhawong ถึงกัญชาทางการแพทย์ ว่า ในความเห็นของตนในฐานะนักเคมี มองว่ากัญชาเหมาะเป็นยาใช้ภายนอกไปก่อน ผสมทำครีม น้ำมันนวด อย่าพึ่งรับประทาน เพราะมีทั้งบวกและลบ ตอนนี้จะเอาบวกด้านเดียว ต้องรอผลการศึกษาให้นิ่งก่อน

ส่วนสาเหตุที่สนับสนุนกัญชาเป็นเพียงยาใช้ภายนอกก่อน เพราะสารประกอบในกัญชานั้นมีการระบุมาก่อนแล้วว่า พบมากกว่า 483 ตัว และแบ่งได้หลายกลุ่ม คือ สารที่เป็นเอกลักษณ์ของกัญชา คือ กลุ่มแคนนาบินอยด์กว่า 60 ตัว นอกนั้นเป็นสารประกอบที่สามารถพบได้ในพืชอื่นๆ เช่น กลุ่มเทอร์ปีน กลุ่มอัลคาลอยด์ กลุ่มเอไมด์ กลุ่มลิกแนนาไมด์ กลุ่มฟลาโวนอยด์ กลุ่มกรดไขมัน เป็นต้น ซึ่งสารสำคัญต่างๆ นี้ มีบางตัวที่ออฤทธิ์ในการกดประสาท และทำให้เสพติดได้ หากใช้ในปริมาณที่ไม่เหมาะสม แต่จากสมบัติของสารสำคัญแต่ละตัวที่โดดเด่นพบว่า สารหลายตัวมากที่มีฤทธิ์ที่สามารถเป็นยาภายนอกได้ เช่น สารแคนนาบิเจอรอล สารแคนนาบิโครมีน สารแคนนาบิไดออล หรือแม้แต่สารทีเอชซี ที่มีฤทธิ์แก้ปวด ต้านเชื้อรา ต้านการอักเสบ จะทำครีม น้ำมันมวย ก็ว่าไป


นอกจากนี้ ยังไม่ระบุว่า กัญชาไม่ใช่คำตอบของทุกสิ่ง ยังมีสมุนไพรหลายตัวที่มีสรรพคุณช่วยรักษาโรค เช่น "เจี๋ยวกู่หลาน" ว่ากันว่า มีประสิทธิภาพในการรักษาชาวบ้านที่เป็นโรคไขมันสูงในเส้นเลือด และโรคความดันโลหิตสูงได้อย่างดี เห็นคนโบราณใช้มาจนปัจจุบัน ว่า ปรับสมดุลของร่างกาย (Adaptogen) ต้านมะเร็ง (Anti-cancer) ชะลอความแก่ (Anti-aging) หรือ "ตังเซียม" หรือโสมคนจน สมุนไพรจีนที่มีจำหน่ายในไทย จากรายงานทางวิทยาศาสตร์พบว่า มีสาร Tanshinone IIA 0.1-0.4%, Cryptotanshinone 0.04 - 0.46% Tanshinone I 0.03-0.15%, Dihydrotanshinone, Salvianolic acid A และ Salvianolic B ข้อมูลสรรพคุณที่พบก็ประมาณว่า 1. ป้องกันและรักษาโรคเกี่ยวกับหลอดเลือดหัวใจ 2. รักษาภาวะเลือดอุดตัน และการอักเสบของหลอดเลือด โดยเฉพาะคนที่มีเส้นเลือดขอดที่เท้า ทำให้เลือดไม่ไหลเวียน 3. รักษาภาวะประจำเดือนผิดปกติ 4. ช่วยให้นอนหลับ, ช่วยบำรุงระบบประสาทที่อ่อนแอ

รศ.ดร.วีรชัย กล่าวว่า ขณะนี้ห้องปฏิบัติการวิจัยกัญชาเพื่อการแพทย์ ของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ซึ่งได้รับใบอนุญาตครอบครองและผลิตสารสกัดกัญชา จากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.) เพื่อการวิจัยกัญชาทางการแพทย์ กำลังพัฒนาเทคนิคการสกัดที่แยกสารต่างๆ ในกัญชาให้บริสุทธิ์ เพื่อทดสอบสมบัติการต้านเซลล์มะเร็งและสมบัติทางยาด้านอื่นๆ สำหรับเรื่องการเปิดเสรีในการทำยากัญชานั้น ควรส่งเสริมทำยาภายนอกแบบเปิดเสรีก่อน เพราะสารกลุ่มดังกล่าว สามารถผสมทำครีม ยาทา หรือยาแก้ปวด บรรเทาปวด ที่สามารถดูดซึมผ่านผิวหนังได้ ในส่วนของยากินนั้น ต้องสกัดสารบริสุทธิ์เพื่อผสมสัดส่วนที่ถูกต้องตามหลักวิทยาศาสตร์ให้นิ่งก่อน หรือมีผลงานวิจัยที่สนับสนุนมากกว่านี้ นอกจากนี้ สารกลุ่มเทอร์ปีน ที่มีกลิ่นที่เป็นเอกลักษณ์ของกัญชา สามารถนำมาพัฒนาใช้ในอุตสาหกรรมอาหาร

ที่มา: https://mgronline.com/qol/detail/9620000078726