เครือข่ายนักวิชาการ-ภาคประชาสังคมเตรียมล่า 1 หมื่นชื่อ เสนอร่าง พ.ร.บ. ชงตั้งสถาบันพืชยา กัญชา และกระท่อมแห่งชาติ

Last updated: 27 ส.ค. 2562  | 

วันที่ 27 สิงหาคม 2562 -16:25 น.


วันที่ 24 ส.ค. 2562 เครือข่ายวิชาการและภาคประชาสังคมด้านพืชยา กัญชา กระท่อม ได้แก่มูลนิธิสาธารณสุขกับการพัฒนา ศูนย์วิชาการเฝ้าระวังและพัฒนาระบบยา คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (กพย.) และมูลนิธิศูนย์คุ้มครองสิทธิด้านเอดส์ จัดแถลงข่าว “ร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) พืชยา กัญชา กระท่อม ฉบับประชาชน” ซึ่งมีการเสนอให้จัดตั้งสถาบันพืชยา กัญชา และกระท่อมแห่งชาติ ภายใต้กำกับของรัฐ ในสังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี ณ ห้องประชุม Dipak C. Jain อาคารศศนิเวศ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

นายไพศาล ลิ้มสถิตย์ กรรมการบริหารศูนย์กฎหมายสุขภาพและจริยศาสตร์ คณะนิติศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ (มธ.) กล่าวว่า ในร่าง พ.ร.บ. จะมีการเสนอให้จัดตั้งสถาบันพืชยา กัญชา และกระท่อมแห่งชาติ อยู่ในหมวดที่ 4 เป็นหน่วยงานใหม่ที่มีความอิสระ โดยการจัดการเกี่ยวกับกัญชา ต้องมีหน่วยงานเฉพาะขึ้นมา ซึ่งปัจจุบันมีกระทรวงสาธารณสุขและสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) รับผิดชอบ แต่ยังไม่มีอำนาจหน้าที่ชัดเจนและครบถ้วนเกี่ยวกับกัญชา

“สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) และสธ. ไม่มีความเชี่ยวชาญหรือชำนาญเกี่ยวข้องกับกัญชาและกระท่อม ซึ่งภารกิจของหน่วยงานดังกล่าว ส่วนใหญ่เกี่ยวข้องกับการอนุมัติผลิตภัณฑ์ยา เวชภัณฑ์ ในหลักการจึงต้องจัดตั้งสถาบันพืชยาฯ ขึ้นมา สอดคล้องกับการจัดตั้งหน่วยงานอื่น ๆ เช่น มีสถาบันวัคซีนแห่งชาติ หรือมี สธ. แล้ว ยังต้องมีสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) เพราะจะก่อให้เกิดผลมากกว่าเดิม” กก.บห.ศูนย์กฎหมายสุขภาพฯ คณะนิติศาสตร์ มธ. ระบุ

ด้าน ผศ.ภญ.ดร.นิยดา เกียรติยิ่งอังศุลี ผู้จัดการ กพย. เปิดเผยว่า สถาบันพืชยา กัญชา และกระท่อมแห่งชาติ มีหน้าที่และอำนาจ 9 ประการ ได้แก่ 1.รับผิดชอบงานธุรการของคณะกรรมการและคณะอนุกรรมการ 2.จัดทำนโยบายส่งเสริม สนับสนุนการพัฒนาพืชยา เพื่อเสนอแก่คณะกรรมการ 3.ประสานงานกับหน่วยงานด้านนโยบาย ยุทธศาสตร์และแผนงานเกี่ยวกับพืชยา 4.ส่งเสริม สนับสนุนการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับพืชยา การใช้ประโยชน์จากพืชยาหรือการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องและศึกษาผลกระทบด้านต่าง ๆ 5.รับจดแจ้งชุมชนพืชยาและพิจารณาอนุมัติธรรมนูญชุมชน 6.รวบรวมและจัดทำฐานข้อมูลการขออนุญาตเกี่ยวกับพืชยาและการขึ้นทะเบียนตำรับยา 7.เผยแพร่ข้อมูลผลการดำเนินงานของสถาบัน ความรู้เกี่ยวกับการปลูก การใช้พืชยาที่ถูกต้องแก่ประชาชนและผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง 8.มอบให้องค์กรอื่นหรือบุคคลอื่นทำกิจการที่อยู่ภายในอำนาจหน้าที่ของสถาบัน และ 9.ปฏิบัติหน้าที่อื่นตามที่กฎหมายกำหนดไว้ในพระราชบัญญัตินี้หรือตามที่คณะกรรมการมอบหมาย

 

ขณะที่ น.ส.สุภัทรา นาคะผิว ผู้อำนวยการมูลนิธิศูนย์คุ้มครองสิทธิด้านเอดส์ กล่าวถึงการขับเคลื่อนหลังจากนี้ว่า เครือข่ายวิชาการและภาคประชาสังคมจะเผยแพร่ร่าง พ.ร.บ. พืชยาฯ ฉบับประชาชน เพื่อรณรงค์ให้ประชาชนร่วมเข้าชื่อสนับสนุนร่างกฎหมายให้ครบ 10,000 รายชื่อ ตามรัฐธรรมนูญ ปี 2560 มาตรา 133 (3) บัญญัติว่า ผู้มีสิทธิเลือกตั้งจํานวนไม่น้อยกว่าหนึ่งหมื่นคนเข้าชื่อเสนอกฎหมายตามหมวด 3 สิทธิและเสรีภาพของปวงชนชาวไทย หรือหมวด 5หน้าที่ของรัฐ ทั้งนี้ ตามกฎหมายว่าด้วยการเข้าชื่อเสนอกฎหมาย เพื่อนำเสนอต่อรัฐสภาพิจารณาเป็นกฎหมายต่อไป

นายศุภชัย ใจสมุทร สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรคภูมิใจไทย กล่าวว่า ปัจจุบันในฐานะนายอนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย ดำรงตำแหน่งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (รมว.สธ.) อะไรที่สามารถทำได้ในเชิงฝ่ายบริหาร รมว.สธ.พยายามทำเต็มที่ และทีมคณะทำงานได้พยายามผลักดัน รวมถึงมีความประสงค์จะเปลี่ยนทัศนคติหลายเรื่องในกระทรวงสาธารณสุขในมุมมองกัญชาที่แตกต่างกันออกไป

ทั้งนี้ เรื่องกฎหมาย พรรคภูมิใจไทยจะมีการยื่นเสนอเพื่อแก้ไขกฎหมายเกี่ยวกับกัญชาอย่างแน่นอน อย่างไรก็ตาม คาดว่า ในช่วงเวลาเปิดสมัยประชุมสภาผู้แทนราษฎร หลัง พ.ย. จะยื่นสิ่งที่ทุกคนกำลังทำ ซึ่งทำคู่ขนานไปด้วย ถือเป็นเรื่องดี แต่ห่วงใยว่า เวลาจะไม่ทัน เพราะระยะเวลาตรวจสอบการเข้าชื่อเสนอกฎหมายของประชาชนมีกระบวนการล่าช้ามาก

ที่มา: https://www.isranews.org/isranews/79730-news-79730.html