Last updated: 2019-09-26 |
วันที่ 26 กันยายน 2562 - 13:54 น.
มหาวิทยาลัยขอนแก่นจับมือกับองค์การเภสัชฯ วิจัยพัฒนาผลิตภัณฑ์สารสกัดกัญชาทางการแพทย์ นับเป็นนวัตกรรมสำคัญ ทั้งยังเล็งทำผลิตภัณฑ์จากสารสกัดกัญชาในรูปแผ่นฟิล์มอมใต้ลิ้น และแผ่นแปะ มหาวิทยาลัยขอนแก่นลงนามความร่วมมือกับองค์การเภสัชกรรม วิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์สารสกัดกัญชาทางการแพทย์ โดยยาเหน็บทวารหนัก นับเป็นอีกหนึ่งผลงานความสำเร็จภายใต้กรอบความร่วมมือดังกล่าว ซึ่งจะเป็นอีกวิธีในการนำส่งยาให้ผู้ป่วยที่ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้
ขอบคุณภาพจาก: siamrath
ศ.ภญ.บังอร ศรีพานิชกุลชัย คณะเภสัชศาสตร์ คณะกรรมการขับเคลื่อนการวิจัยและพัฒนากัญชาเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เผยถึงการพัฒนาผลิตภัณฑ์สารสกัดกัญชาภายใต้ความร่วมมือ ว่า สืบเนื่องจากการลงนามข้อตกลงความร่วมมือวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์สารสกัดกัญชาทางการแพทย์ระหว่าง มหาวิทยาลัยขอนแก่น กับ องค์การเภสัชกรรม เมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม 2562 ที่ผ่านมา มหาวิทยาลัยขอนแก่นได้พัฒนาผลิตภัณฑ์สารสกัดกัญชาทางการแพทย์ ให้มีประสิทธิภาพและเหมาะสมกับโรคต่างๆ หลายประเภท ซึ่ง ยาเหน็บทวารหนัก นับเป็นอีกผลงานความสำเร็จครั้งสำคัญที่อยู่ภายใต้กรอบความร่วมมือดังกล่าว
เนื่องจากเป็นอีกวิธีในการนำส่งยาให้ผู้ป่วยที่ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ ที่แพร่หลายในต่างประเทศ แต่คนไทยจำนวนไม่น้อยอาจจะไม่คุ้นเคยกับยาประเภทนี้ เนื่องจากคนไทยคุ้นเคยกับการทานยามากกว่าการใช้ในลักษณะยาเหน็บทวารหนัก นอกจากนี้ ในยาแผนพื้นบ้านเราได้ข้อมูลว่ามีการใช้น้ำมันกัญชาสวนเข้าทวารหนัก แต่เมื่อสวนเข้าไปจะไหลเลอะเทอะ ตัวยาก็ไม่ได้เข้าไป ฉะนั้นกรณีของ ยาเหน็บทวารหนักจากสารสกัดกัญชาที่ไวต่ออุณหภูมิของร่างกาย จึงน่าสนใจ เพราะเป็นอีกวิธีหนึ่งในการนำส่งยา เหมาะสำหรับผู้ป่วยที่ไม่รู้ตัวหรือว่ากินยาไม่ได้ เช่น ผู้ป่วยเด็กที่ไม่ยอมกลืนยา ผู้ป่วยมะเร็งที่ไม่สามารถกลืนยาได้ ผู้ป่วยที่กลืนแล้วสำลัก
ขอบคุณภาพจาก: siamrath
“เทคโนโลยีทางเภสัชกรรมที่เรานำมาประยุกต์ใช้ ภาษาอังกฤษเราเรียกว่า thermosensitive suppository เป็นยาเหน็บที่ไวต่ออุณหภูมิของร่างกาย สิ่งแวดล้อม ตัวยาจะใส่หลอดเหมือนหลอดฉีดยาเล็กๆ ในอุณหภูมิห้องเป็นของเหลว โดยเราจะใช้สารช่วยเมื่อสวนเข้าทวารหนัก อุณหภูมิร่างกายจะสูงขึ้นเล็กน้อย ของเหลวในหลอดจะแข็งตัวขึ้นกลายเป็นเจล ตัวยาจะค่อยๆปลอดปล่อย โอกาสที่จะถูกเปลี่ยนแปลงที่ตับก็จะน้อยลงกว่าการกิน การจะเข้าสู่ระบบประสาทที่มีตัว รับ THC CBD อาจจะลดน้อยลง เพราะฉะนั้นโอกาสเมายาก็จะลดน้อยลงด้วยเช่นกัน ลดอาการข้างเคียงจากกัญชาได้” ศ.ภญ.บังอร กล่าว
ขอบคุณภาพจาก: siamrath
ศ.ภญ.บังอร กล่าวด้วยว่า นอกจากนี้ยาเหน็บจากสารสกัดกัญชาที่ไวต่ออุณหภูมิของร่างกายยังมีจุดเด่นที่สามารถควบคุม ปริมาณของสารสำคัญได้ ซึ่งแตกต่างจากการใช้น้ำมันกัญชาที่ไม่แน่ใจเรื่องปริมาณสารและมาตรฐาน โดยขั้นตอนต่อไป คือ การรออนุญาตจากองค์การเภสัชกรรม ทดสอบการใช้จริงในคนโดยใช้วัตถุดิบสารสกัดที่ไม่มีการปนเปื้อน รวมไปถึงรอการปลูกของคณะเกษตรศาสตร์ ที่มหาวิทยาลัยขอนแก่น
ขอบคุณภาพจาก: siamrath
“เท่าที่ดูผลิตภัณฑ์ต่างประเทศที่เป็นกัญชา ขณะนี้ยังไม่เห็นในรูปยาเหน็บ ความสำเร็จครั้งนี้น่าจะเป็นนวัตกรรมสำคัญ เป็นไปได้ว่าภายใน 2 ปีนี้ จะได้ใช้ยาดังกล่าว เป็นความภูมิใจที่มหาวิทยาลัยขอนแก่นได้มีส่วนร่วมในการพัฒนาให้กัญชาโดยเฉพาะของประเทศไทยเราซึ่งมีอยู่เยอะเป็นโอกาสทั้งเชิงการแพทย์ การเกษตร ได้ประโยชน์เชิงเศรษฐศาสตร์ ส่งผลดีต่อเศรษฐกิจของประเทศด้วยเช่นกัน” ศ.ภญ.บังอร กล่าว
ขอบคุณภาพจาก: siamrath
ทั้งนี้ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้พัฒนาผลิตภัณฑ์สารสกัดกัญชาประมาณ 9-10 ชนิด ซึ่งนอกจากยาเหน็บจากสารสกัดกัญชาที่ไวต่ออุณหภูมิของร่างกาย ผลิตภัณฑ์ที่องค์การเภสัชกรรม มีความสนใจตรงกันยังประกอบด้วย 1. คือ แผ่นฟิล์ม หรือ เม็ดอมใต้ลิ้น ลักษณะเหมือนกับน้ำมันกัญชาแต่จะสามารถควบคุมปริมาณการใช้ได้ค่อนข้างดี 2. แผ่นแปะ เป็นเทคโนโลยีทางเภสัชกรรมที่ทันสมัย สำหรับใช้ภายนอก เมื่อแปะแล้วสารสำคัญจะถูกดูดซึมเข้าร่างกายไปในระบบเลือดได้ผลเหมือนกับการกินแต่ไม่ต้องใช้วิธีกิน
อ้างอิง: https://siamrath.co.th/n/105143