Last updated: 20 พ.ย. 2562 |
วันที่ 20 พฤศจิกายน 2562 - 10:15 น.
ส่องมุมมองประเทศเพื่อนบ้าน เรื่องท้าทาย ผลักดัน "กัญชา" ให้ใช้ได้ถูกกฎหมาย โดยคำนึงถึงประโยชน์ของผู้ใช้ อย่ามองเป็นอาชญากร แต่เพราะความจำเป็น หลังจาก พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 7) พ.ศ.2562 มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 19 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ทำให้ไทย เป็นประเทศแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่เปิดเสรีการใช้กัญชา แม้จะเพื่อการแพทย์ และศึกษาวิจัย แต่ก็เป็นการสะท้อนให้เห็นถึงความก้าวหน้าครั้งสำคัญของสังคมไทย ที่เปิดรับในเรื่องนี้
ทั้งนี้ในงาน ประชุมและงานแสดงนานาชาติอุตสาหกรรมกัญชา Elevating Cannabis Expo 2019: Asia’s Green Rush ที่จัดขึ้นโดยบริษัท เอเลเวทเต็ด เอสเตท จำกัด พร้อมด้วยพันธมิตรชั้นนำทั้งในไทยและต่างประเทศ ซึ่งถือเป็นการจัดครั้งแรกในประเทศไทย เพื่อให้ความรู้เกี่ยวกับอุตสาหกรรมกัญชา และธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง เป็นการช่วยเปิดโอกาสทางธุรกิจใหม่ ให้ผู้ประกอบการไทย พร้อมต่อยอดองค์ความรู้ทุกมิติเกี่ยวกับอุตสาหกรรมกัญชาไทย
เกี่ยวกับโอกาสการผลักดันกัญชาให้ถูกกฎหมาย ในประเทศอาเซียนนั้น ดาเนีย ปุตรี ผู้ช่วยโครงการ สถาบัน ทรานเนชั่นนัล อินโดนีเซีย เผยว่า ตอนนี้กัญชาในอินโดนีเซีย มีการทำวิจัยเพื่อการแพทย์เพียงอย่างเดียว แม้ที่ผ่านมา จะมีการเคลื่อนไหวให้เห็นถึงโทษ และอันตรายจากยาเสพติด แต่ปัจจุบันก็เริ่มมีการพูดถึงประโยชน์ของกัญชาบ้างแล้ว
สำหรับกัญชา ถ้าพูดถึงประวัติศาสตร์ จะพบว่ามีการใช้กัญชามาแล้วเป็นพันปี หรือยาเสพติดก็มีมานานแล้ว แต่จะทำอย่างไร ให้ถูกใช้โดยการควบคุมให้เกิดประโยชน์ และไม่อยากให้มองว่าคนใช้ยา (กัญชา) คืออาชญากร แต่เพราะเค้ามีความจำเป็นต้องใช้ โดยมีแพทย์จะเป็นผู้ควบคุมสั่งยา
โดย ดาเนีย กล่าวย้ำว่า เราไม่ได้บอกให้นำคนมาทดลองยา แต่ถ้าจะระงับการผลิต มันไม่แฟร์กับคนที่ต้องการใช้มัน ในหลายประเทศ มีการนำกัญชา มาใช้รักษาโรค ซึ่งเราต้องทำการวิจัย และพิสูจน์ให้ได้ว่า กัญชา มีส่วนช่วยในเรื่องดังกล่าวจริงๆ ก็จะทำให้เรามองข้ามมันไปได้
ในอินโดนีเซีย การลดอันตรายจากการใช้ยาเสพติด (Harm Reduction) มีหลายแนวทาง แต่แน่นอน ในการเปลี่ยนกฎหมายทำได้ยาก ซึ่งองค์กรต่างๆ ก็ต้องทำงานควบคู่ไปกับรัฐบาล ในปี 2015 มีการอนุญาตให้ทำวิจัยเรื่องกัญชา ทางการแพทย์ ซึ่งเชื่อว่าในอนาคต จะผลักดันให้เกิดการนำไปใช้ประโยชน์ต่อไป
ขอบคุณภาพจาก : thairath.co.th
ด้าน คิมมี เดล ปราโด ผู้ก่อตั้ง และนักรณรงค์ แห่ง Sensible Philippines เผยว่า ตอนนี้ในฟิลิปปินส์ มีกฎหมายรออยู่ 5 ฉบับ ซึ่งกัญชาในฟิลิปปินส์ ก็ยังเป็นเรื่องที่ผิดกฎหมายเช่นกัน นับเป็นเรื่องที่ท้าทาย ที่เราจะเปลี่ยนความคิดของคนอื่นให้หันมาสนใจกัญชา มารับรู้ข้อมูลของกัญชา ซึ่งท้ายที่สุด เราคงได้กัญชาที่ถูกกฎหมาย โดยตอนนี้คนจำนวนมากในประเทศก็เริ่มพูดถึงแล้ว หลังจากได้รับแรงกดดันจากประเทศเพื่อนบ้าน ที่หันมาใส่ใจในเรื่องของกัญชา
นอกจากนี้ ต้องยอมรับว่า ที่ผ่านมาแม้กัญชาจะจัดอยู่ในประเภทของยาเสพติด แต่ก็มีตลาดที่ทำการค้าขาย ซึ่งมันผิดกฎหมาย ดังนั้น ตอนนี้คนที่ทำผิดอยู่ ก็มีโอกาสที่จะมาอยู่ในสิ่งที่ถูกกฎหมายด้วย
เรามองว่า สิ่งที่ไทยทำอยู่ตอนนี้มันน่าทึ่งมาก ซึ่งเราก็หวังว่ามันจะเป็นแรงผลักดัน และทำให้เกิดลักษณะแบบนี้ในอินโดนีเซีย มาเลเซีย หรือฟิลิปปินส์ ซึ่งในฟิลิปปินส์เองก็เริ่มมีการประชุม และทำวิจัยกัญชากันบ้างแล้ว
ขณะที่ ฮาริช กุมาร ผู้ร่วมก่อตั้ง รักษาการเลขาธิการ MASA องค์กรที่จะต่อสู้ ให้กัญชาถูกกฎหมาย เผยถึง สถานการณ์เกี่ยวกับเรื่อง "กัญชา" ในมาเลเซียว่า ในมาเลย์ รัฐบาลเข้าใจว่าการทำให้ถูกกฎหมายเป็นสิ่งจำเป็น สิ่งหนึ่งมาจากนักโทษที่ถูกคุมขังในเรือนจำ ส่วนใหญ่เกี่ยวข้องกับยาเสพติด ซึ่งรัฐบาลจะต้องจ่ายเงินเป็นค่าดูแลนักโทษเหล่านี้ปีละจำนวนมาก ซึ่งถ้าทำให้ถูกกฎหมาย อาจไม่ต้องมาเสียค่าใช้จ่ายในส่วนนี้
อีกทั้งในประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เรามีปัญหาในการจัดการยาเสพติดคล้ายๆกัน ซึ่งในมาเลเซียเอง ตอนนี้พร้อมแล้ว แต่ขาดเงินทุน และพาร์ทเนอร์ ที่จะมาทำวิจัย ซึ่งหวังว่าในอนาคต เราจะได้ทำงานร่วมกัน เพื่อให้เข้าถึงกัญชาได้อย่างเสรี ไม่ใช่รอ 5-10 ปี กว่าคนไข้จะได้เข้าถึงยาที่จำเป็น.
อ้างอิง : https://www.thairath.co.th/news/society/1706810