วิถีเส้นใยกัญชง จากพืชเสพติดสู่พืชเศรษฐกิจ

Last updated: 11 ธ.ค. 2562  | 

วันที่ 11 ธันวาคม 2562 - 10:35 น.

 

กล้าลองกล้าลุย กับ คุณต้นกล้า ชัยอนันต์ พาขึ้นเหนือไปที่จังหวัดเชียงใหม่ ไปดูวิถีชีวิตและความผูกพันของชาวบ้าน เป็นเวลานานเกือบ 100 ปี กับ "เส้นใยกัญชง" พืชเสพติดที่กำลังถูกจับตามอง วันนี้กำลังจะกลายเป็นพืชเศรษฐกิจสำคัญ ไปติดตามชมพร้อมกันใน กล้าลองกล้าลุย

วันนี้ กล้าลองกล้าลุย พร้อมกับทีมงาน เราพาทุกท่านขึ้นเหนือมาที่นี่ มาที่จังหวัดเชียงใหม่ หมู่บ้านที่เรามาเกาะติดคือ บ้านแม่สาน้อย ในตำบลโป่งแยง อำเภอแม่ริม ที่นี่มีวิถีชีวิตที่ผูกพันกับต้นกัญชงมาอย่างยาวนาน

อาชีพหลักของชาวบ้านที่นี่คือการทำการเกษตร อย่างไร่กะหล่ำปลีที่เห็นสุดลูกหูลูกตานี้ ในอนาคตที่บ้านแม่สาน้อย จะเปิดเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตร ให้นักท่องเที่ยวได้เดินทางเข้ามาสัมผัสวิถีชีวิตแบบดั้งเดิมอย่างใกล้ชิด แต่สิ่งที่อยู่คู่กับชาวบ้านมานาน เรียกว่ามีความสำคัญตั้งแต่เกิดไปจนถึงตาย ถือเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ เป็นประเพณีที่ยึดถือกันมานาน คือวิถีจากต้นกัญชงเหล่านี้

ต้นกัญชงที่เห็น เดิมชาวบ้านที่เป็นชาวเขาเผ่าม้งปลูกกันไว้แทบจะทุกครัวเรือน เนื่องจากต้องใช้ประโยชน์จากเส้นใยกัญชง แต่เมื่อมีกฎหมายเข้ามาควบคุม ในปัจจุบันการปลูกแต่ละครั้งจะมีหน่วยงานของรัฐเข้ามากำกับดูแล ที่หลายคนสงสัยก็คือ กัญชงกับกัญชาต่างกันอย่างไร มีวิธีสังเกตง่าย ๆ ดังนี้

อย่างแรก ถ้าให้จำได้ง่ายหน่อย คือดูที่ลักษณะแฉกของต้นกัญชง ถ้าลองนับจำนวนแฉกของใบได้ตั้งแต่ 7-11 แฉก แปลว่าเป็นต้นกัญชง ในขณะที่ต้นกัญชา ใบจะมีแฉกประมาณ 5-7 แฉกเท่านั้น ที่สำคัญต้นกัญชงใบจะค่อนข้างใหญ่ และเรียงตัวกันห่าง หรือสังเกตุจากลักษณะของลำต้น จะสูงเรียว หักได้ง่ายกว่าต้นกัญชาที่เป็นพุ่มเตี้ยกว่า

ข้อดีของกัญชงคือสามารถแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับสิ่งทอ และนำไปใช้ประโยชน์ในเชิงอุตสาหกรรมที่สร้างมูลค่า และรายได้ได้อย่างมหาศาล แต่กับชาวบ้านที่นี่ เขาผูกพันกับวิถีต้นกัญชงมาอย่างยาวนาน

ต้นกัญชงที่มีขนาดและอายุพอนำไปแปรรูปได้ จากนี้ถูกตัดนำไปตากแดดจัด ๆ 2-3 สัปดาห์ เพื่อให้แห้งที่สุด อย่างเช่นจุดเก็บต้นกัญชงแห้งของทางกลุ่มฯ ทุกวันนี้เริ่มจะลดน้อยลงไป เนื่องจากมีข้อจำกัดเรื่องการปลูก ที่สำคัญก็คือ ผ้าจากเส้นใยกัญชง ไม่ได้ใช้ต้นกัญชงแค่ต้นสองต้น เห็นเยอะ ๆ แบบนี้ อาจจะทำได้ไม่กี่ผืน

แค่ฟังดูก็เริ่มยากแล้ว 20 กว่าขั้นตอน กว่าจะมาเป็นผ้าจากใยกัญชง จากนี้คือต้องนำต้นกัญชงมาลอกเปลือกออกทีละนิด เปลือกบาง ๆ ที่ชาวบ้านเรียกว่าใย คือสิ่งที่เราต้องการ ข้อควรระวังคือต้องไม่ให้ใยที่ลอกขาด หรือสั้นเกิน ขั้นตอนกว่าจะได้ผ้าสวย ๆ ที่ผลิตจากใยกัญชง จึงต้องใช้ความอดทนอย่างมาก พรุ่งนี้มาติดตามชมกันต่อ พร้อมกับมาดูราคาของผลิตภัณฑ์จากใยกัญชง จะสร้างรายได้ให้กับชาวบ้านได้อย่างไร ห้ามพลาด

 

อ้างอิง: https://news.ch7.com/detail/380718