Last updated: 7 ม.ค. 2563 |
วันที่ 07 มกราคม 2563 - 11:04 น.
“อนุทิน” เปิดคลินิกกัญชาในกระทรวงสาธารณสุข ให้บริการทั้งแผนไทยและแผน ปัจจุบัน รองรับคนรอบกทม. ลงทะเบียนเข้ารับบริการยาวถึง มี.ค. ร่วมเกือบ 2 พันคน เร่งจัดส่งยากัญชาถึง รพ.ที่มีคลินิก หลังเจอปัญหายายังขาดไปไม่ถึง จ่อชง คกก.ยาเสพติดให้น้ำมันเดชาเป็นตำรับยากัญชาแผนไทยตัวที่ 17
คนไทยได้ใช้สารสกัดกัญชาอย่างถูกต้องแล้ว โดยเมื่อวันที่ 6 ม.ค. ที่อาคารพิพิธภัณฑ์การสาธารณสุขและการแพทย์แผนไทย นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.สาธารณสุข กล่าวภายหลังเปิดคลินิกกัญชาทางการแพทย์แผนไทยและการแพทย์พื้นบ้าน ว่า คลินิกนี้จะให้บริการแบบผสมผสาน ทั้งแพทย์แผนไทย แพทย์พื้นบ้าน และแพทย์แผนปัจจุบัน เพื่ออำนวยความสะดวกประชาชนรอบกรุงเทพมหานคร ให้เข้าถึงการรักษาด้วยตำรับยาสมุนไพรที่มีส่วน ผสมของกัญชาเบื้องต้น มี 4 ตำรับ คือ ยาศุขไสยาศน์ ทำลายพระสุเมรุ ยาแก้ลมแก้เส้น และน้ำมันกัญชาสูตร อ.เดชา ศิริภัทร โดยคลินิกฯ จะเป็นต้นแบบของคลินิกกัญชาทั่วประเทศ ขณะนี้โรงพยาบาลระดับจังหวัดมีการตั้งคลินิกกัญชารออยู่แล้ว แต่ที่ยังติดอยู่คือสารสกัดกัญชามีไม่เพียงพอ ตัวยายังไปไม่ถึง ขณะนี้ได้อนุมัติให้จัดส่งไปถึงคลินิกกัญชาทั่วประเทศ น่าจะได้รับการตอบรับที่ดี
นายอนุทินกล่าวอีกว่า การดำเนินงานที่ผ่านมาผลการรักษาด้วยสารสกัดกัญชาให้ผลเป็นที่น่าพอใจทุเลาอาการเจ็บป่วย โดยจากนี้จะเก็บข้อมูลการรักษาให้มากที่สุด สมมติหยอดแล้วได้ผลเกินครึ่งหรือมีนัยสำคัญ นอนหลับได้ หมดความเครียด รักษาเรื่องความจำเสื่อม ลมชักได้ ก็สามารถนำไปผลักดัน อย่างไรก็ตาม ยากัญชายังอยู่นอกบัญชียาหลักแห่งชาติ การรักษา กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) จึงรับผิดชอบค่าใช้จ่ายส่วนนี้ เพราะเหมือนกับการศึกษาผลของสารสกัดกัญชาว่า สรรพคุณเป็นไปตามคาดหมายหรือไม่ หากเป็นก็จะหาวิธีผลักดันให้อยู่ในบัญชียาหลักฯต่อไป เพราะต้นทุนยังไม่มาก ที่ทำอยู่ก็ได้รับของกลางมาจากสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด ทั้งนี้ หน้าที่ของ สธ.คือต้องรักษาคนป่วย ถ้าได้ผลก็ยินดีจัดสรรงบประมาณมาดูแลภายใต้กฎหมายที่อนุญาตให้เราทำ
ขอบคุณภาพจาก: thairath.co.th
“กัญชาเสรียืนยันว่าเป็นกัญชาเสรีทางการแพทย์ ไม่ใช่เอามาสูบแล้วเกิดอาการสนุกสนาน ซึ่งขณะนี้ก็ถือว่าเสรีทางการแพทย์แล้วระดับหนึ่ง เช่น ชาวบ้าน เกษตรกร วิสาหกิจชุมชนมาร่วมกับภาครัฐ อาทิ รพ.รัฐ มหาวิทยาลัย โรงเรียนแพทย์ เพื่อปลูกโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อทางการแพทย์เท่านั้น รายได้ก็เข้าวิสาหกิจชุมชน ตรงนี้ต้องค่อยๆแก้ไขไปพยายามทำให้เกิดขึ้นเดินหน้าโดยเร็วที่สุด เพราะหากจะให้เสรีจัดๆ ต้องออกกฎหมายใหม่ ต้องใช้เวลานานมาก ก็จะหาวิธีเดินหน้าต่อ ดูระเบียบข้อบังคับใน สธ. อันไหนทำได้ก็เข้าไปทุกซอย อย่างเรื่องสารสกัดจากกัญชงก็อยู่ระหว่างการออกกฎหมายให้สามารถนำมาใช้ได้ ส่วนเรื่อง 6 ต้น กฎหมายเสนอเข้าไปแล้ว ก็ต้องรอไปตามกระบวนการแต่ไม่ใช่เพื่อการสูบแน่นอน” นายอนุทินกล่าว
ด้าน นพ.มรุต จิรเศรษฐสิริ อธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กล่าวว่า วันนี้มีผู้ลงทะเบียน 368 ราย และถึงวันที่ 31 มี.ค.ประมาณ 1,900 กว่าคน สำหรับการเปิดคลินิกแห่งนี้จุดสำคัญ คือต้องการให้กล้าจ่ายยากัญชาแผนไทยมากขึ้น ส่วนการกระจายยาไปทั่วประเทศ มีการติดต่อบริษัทรับส่งที่ถูกต้องตามกฎหมาย มีใบรับรองจำหน่ายถูกต้อง หากแพทย์แผนไทยโรงพยาบาลไหนอยากได้ให้ประสานมาเราจัดให้หมด สำหรับผู้ป่วยที่รับยาในระบบ มีประมาณ 3 พันกว่าราย ส่วนยาที่มีการใช้เยอะสุดคือน้ำมันเดชาและศุขไสยาศน์ ส่วน 16 ตำรับต้องใช้ของกลางมาผลิต และขณะนี้เพิ่งเริ่มได้จากการปลูกที่สกลนคร สำหรับผู้ป่วยที่มามักมีอาการนอนไม่หลับ อ่อนเพลีย พาร์กินสัน ไมเกรน มีภาวะเกร็งชัก บางคนกินข้าวไม่ได้ แต่พอใช้น้ำมันเดชา 3 หยดต่อคืน 2 สัปดาห์ กินข้าวได้
นพ.มรุตกล่าวอีกว่า ภาพรวมการจ่ายยานั้น น้ำมันเดชาผลข้างเคียงน้อยมาก ได้ผล 60-80 เปอร์เซ็นต์ แล้วแต่อาการ ส่วนตำรับทำลายพระสุเมรุก็ได้ผลค่อนข้างดี ส่วนการเสนอน้ำมันเดชาให้เป็นตำรับที่ 17 นั้น ขณะนี้มีผลการศึกษา 3 พันรายที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ดำเนินการ จะเสนอเข้าสู่คณะกรรมการควบคุมยาเสพติดให้โทษ เพื่อปลดออกจากการวิจัย และเสนอออกเป็นตำรับที่ 17 ต่อไป เพื่อให้เกิดการใช้อย่างแพร่หลาย
อ้างอิง: https://www.thairath.co.th/news/local/1741418