Last updated: 30 ม.ค. 2563 |
วันที่ 30 มกราคม 2563 - 10:41 น.
หลังจากคณะรัฐมนตรี(ครม.) มีมติผ่านร่างกฎกระทรวง การขออนุญาตและการอนุญาตผลิตนำเข้าส่งออกจำหน่าย หรือมีไว้ในครอบครอง ซึ่งยาเสพติดให้โทษ ประเภท 5 เฉพาะกัญชง (Hemp) พ.ศ.... เพื่อปรับปรุงหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขทดแทนกฎกระทรวงฯเดิม โดยเตรียมส่งให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณา หลังจากนั้นจะประกาศใช้ได้ทันที โดยจะอนุญาตให้ประชาชนทั่วไปปลูกระดับครัวเรือนละไม่เกิน 1 ไร่ และต้องเป็นไปตามกฎหมายของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.)
ก่อนจะเตรียมพร้อมปลูกกัญชงที่ถูกกฎหมาย มาดูความแตกต่างระหว่าง “กัญชง” และ “กัญชา” กันดีกว่าว่า แตกต่างอย่างไร รศ.ดร.วิเชียร กีรตินิจกาล อาจารย์จากภาควิชาพืชไร่นา คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และที่ปรึกษาองค์การเภสัชกรรม(อภ.) กล่าวว่า จริงๆ กัญชง กับ กัญชา เป็นพืชวงศ์เดียวกัน เรียกว่าเป็นพี่น้องกันก็ว่าได้ เพียงแต่จะมีความแตกต่าง ทั้งทางกายภาพบ้าง และตัวปริมาณสารสำคัญ ซึ่งสหประชาชาติกำหนดไว้ว่า ในกัญชง ต้องมีซีบีดี(CBD : Cannabidiol) สูง และมีทีเอชซี (THC :Tetrahydrocannabinol) ไม่ต่ำกว่า 0.2% สำหรับประเทศไทยกำหนดไว้ว่า ต้องมีสารทีเอชซีไม่ต่ำกว่า 1%
“ปัจจุบันตามกฎหมายไทยกำหนด คือ กัญชงต้องมีสารทีเอชซีไม่เกิน 1 % ซึ่งผมสามารถพัฒนาสายพันธุ์กัญชงจนได้สารทีเอชซีไม่ต่ำกว่า 0.3-0.4 % ขณะที่สหประชาชาติ(ยูเอ็น)กำหนดให้ไม่ต่ำกว่า 0.2% ดังนั้น ขณะนี้ถือว่าเราพัฒนาใกล้เคียงกับที่ยูเอ็นกำหนด แต่เพราะอากาศของประเทศไทยมีสภาพอาการร้อน ทำให้ค่าทีเอชซียังไม่ได้เท่ากับที่ยูเอ็นระบุไว้ ซึ่งคาดว่าอีกไม่นานจะสามารถทำได้ เนื่องจากหากพัฒนาได้สำเร็จก็จะดีในแง่การส่งออกด้วย” รศ.ดร.วิเชียร กล่าว
รศ.ดร.วิเชียร กล่าวว่า กัญชง แยกได้ 3 กลุ่ม คือ 1. กลุ่มใช้ประโยชน์จากเส้นใย จะมีความเหนียว เหมาะกับการนำมาใช้ประโยชน์ ทั้งเครื่องนุ่งห่ม สิ่งทอ เสื้อเกราะ ฉนวนความร้อนในอุตสาหกรรมต่างๆ ฯลฯ 2. กลุ่มใช้เมล็ด จะไม่มีสารซีบีดี และทีเอชซี แต่มีประโยชน์ในเรื่องสารต้านอนุมูลอิสระ มีโอเมก้า-3 เรียกว่าเป็นน้ำมันคุณภาพ ใช้ในผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร และ3.กัญชงที่เน้นให้สารซีบีดีสูง ตรงนี้สามารถนำประโยชน์ซีบีดีมาใช้ได้เยอะ อย่างเครื่องสำอาง หรือแม้แต่ผลิตภัณฑ์กลุ่มรักษาสิว
ผู้สื่อข่าวถามว่าสหประชาชาติจะประกาศปลดล็อกสารซีบีดีออกจากยาเสพติดเมื่อไหร่ รศ.ดร.วิเชียร กล่าวว่า คาดว่าในเดือนมีนาคม 2563 องค์การอนามัยโลกจะเสนอสหประชาชาติ ปลดล็อกซีบีดีออกจากสารเสพติด โดยกัญชาหรือกัญชงที่มีสารCBD สูง จะต้องมีสารTHC ไม่เกิน 0.2 % ก็จะถือว่าเป็นซีบีดีไม่ใช่ยาเสพติด
สำหรับ “กัญชง” หรือเรียกอีกอย่างว่า “เฮมพ์ (Hemp)” เป็นพืชในวงศ์ CANNABACEAE เป็นวงศ์เดียวกับ “กัญชา” หรือ Marijuana ซึ่งมีลักษณะทางกายภาพบางอย่างคล้ายคลึงกัน แต่ก็ยังสามารถแยกแยะได้จากลักษณะลำต้นและใบ ซึ่งกัญชงจะมีลักษณะต้นสูงกว่าและใบที่เรียวยาวและสีอ่อนกว่า และนอกจากลักษณะทางกายภาพแล้ว กัญชงยังมีลักษณะทางเคมีที่แตกต่างกับกัญชาอีกด้วย โดยกัญชงมีปริมาณของสารทีเอชซี ที่ออกฤทธิ์ต่อจิตประสาทค่อนข้างต่ำ ในขณะที่มีสารซีบีดี ที่ช่วยในการรักษาโรคบางชนิดในปริมาณที่สูงกว่ากัญชา
อ้างอิง: https://www.pptvhd36.com/news