การใช้กัญชาอาจมีผลต่อการส่งต่อยีนออทิสติกในสเปิร์มไปสู่รุ่นหลังได้

Last updated: 9 Sep 2019  | 

วันที่ 6 กันยายน 2562 - 15:48 น.

 

คุณพ่อที่สูบกัญชาแท้จริงแล้วอาจสูบให้ 2 คนก็เป็นได้ - ข้อความนี้หมายถึงความเป็นไปได้ในการส่งต่อยีนคล้ายออทิสติก (มีความเป็นไปได้ในการเกี่ยวข้องกับอาการออทิสติก) ในสเปิร์มสู่อีกรุ่นหนึ่ง ยีนเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับอาการออทิสติกดูเหมือนจะผ่านการเปลี่ยนแปลงในสเปิร์มของผู้ชายที่ใช้กัญชา โดยการเปลี่ยนแปลงยีนนี้ผ่านกระบวนการดีเอ็นเอเมทิลเลชั่น (การควบคุมการแสดงออกของยีน) และอาจส่งต่อไปสู่รุ่นหลัง อ้างอิงจากงานศึกษาวารสาร Epigenetics นักวิจัยไม่พบความเกี่ยวข้องที่ชี้ชัดระหว่างการใช้กัญชากับโรคออทิสติกแต่พบความเกี่ยวข้องที่เป็นไปได้และแนวทางที่ชี้นำให้มีการศึกษาในเรื่องนี้มากยิ่งขึ้นในอนาคต

ซูซาน เมอร์ฟี่ นักวิจัยและรองศาสตราจารย์คณะสูตินรีเวชวิทยา ณ โรงเรียนการแพทย์ของมหาวิทยาลัยดุ๊กได้ศึกษาชีววิทยาของมนุษย์โดยใช้สัตว์ทดลองเพื่อหาความแตกต่างระหว่างสเปิร์มของผู้ชายที่ใช้กัญชากับไม่ใช้กัญชา นักวิจัยพบการเปลี่ยนแปลงของยีนหลายจุดในสเปิร์มของชายที่ใช้กัญชา โดยงานศึกษานี้มุ่งศึกษายีนเฉพาะที่เรียกว่า DLGAP2 ซึ่งเป็นยีนที่เกี่ยวข้องกับการส่งผ่านสัญญาณกระแสประสาทในสมองและก็เกี่ยวข้องกับโรคออทิสติก

โดยพวกเขาพบบริเวณการเปลี่ยนแปลงนี้ในสมองส่วนหน้าของลูกหนูทดลองที่เกิดจากพ่อหนูที่ได้รับสาร THC ของกัญชา ส่วนสำคัญที่ผ่านกระบวนการดีเอ็นเอเมทิลเลชั่นภายในยีน DLGAP2 ที่ถูกเปลี่ยนแปลงถูกส่งต่อไปยังอีกรุ่น อย่างไรก็ตาม นี่เป็นแค่การค้นพบเบื้องต้นและงานวิจัยนี้ไม่สามารถสรุปความเกี่ยวข้องของการใช้กัญชากับอาการออทิสติกในรุ่นลูกได้เนื่องจากกลุ่มตัวอย่างขนาดเล็กและไม่ได้ครอบคลุมปัจจัยอื่นเช่นการกิน นอน ออกกำลังกาย ที่อาจมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงของยีน งานวิจัยนี้เป็นการตั้งคำถามต่อประเทศที่กำลังเปิดเสรีกัญชาอย่างกว้างขวางไม่ว่าจะเป็นเพื่อความบันเทิงหรือทางการแพทย์ว่าการใช้กัญชานั้นมีผลต่อผู้สูบอย่างเดียวหรือมีผลต่อทายาทรุ่นหลังที่ยังไม่ได้เกิดด้วย

 

อ้างอิง : https://www.genengnews.com/news/cannabis-may-epigenetically-mark-mens-sperm-for-autism/